Explorer one Team

บริษัท เอ็กซ์พลอเรอร์วัน จำกัด ก่อตั้งโดย อนุกูล สอนเอก นักสำรวจวิจัยทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมปีนเขาเอเวอร์เรสต์ปี 2007 ตั้งขึ้นมาจากประสบการณ์ทำงานและประสบการณ์ผจญภัยที่หลากหลาย พวกเราพร้อมนำท่านเข้าสู่โลกผจญภัย กิจกรรมกลางแจ้งและการสำรวจทางธรรมชาติวิทยา Explorer One Team คือแหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญด้านสำรวจถ้ำ ปีนหน้าผา การพายคยัคล่องแก่ง การใช้ชีวิตในป่ารวมไปถึงการสำรวจทางภูมิศาสตร์ การใช้แผนที่และเ็ข็มทิศ อีกทั้งยังดำเนินงานให้การอบรมในศูนย์ฝึกทักษะการผจญภัยแขนงต่าง ๆ รวมไปถึงการกู้ภัยพิเศษประเภทต่าง ๆอาทิการกู้ภัยทางน้ำ หน้าผาสูง ในถ้ำ หรือแม้แต่การร่วมปฏิบัติงานกู้ภัยในป่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความชำนาญกว่า 18 ปีบนเส้นทางสายนี้

10/5/54

Ultralight 1........สุดยอดเต้นท์ที่ดีที่สุดในเมืองไทย

ถ้าจะอธิบายสั้น ๆ  Ultralight 1 คือ เต็นท์ที่ผลิตด้วย เทคโนโลยีที่สูงที่สุดเท่าที่มีจำหน่ายในเมืองไทย ณ.ขณะนี้


วัสดุที่ใช้ในการผลิต
Inner tent Material : 100% Nylon Taffeta 75D PU Coated with WR Flysheet 
Sheet Meterial : 100% Nylon Ripstop 40D 
Silicone Coated 5000 mm.
เสาและโครงสร้าง DAC 7001-T6 ALUMINUM หรือเป็น อลูมินั่ม เกรดที่ใช้ทำอากาศยานนั่นเอง 
จากวัสดุทั้งหมดทำให้ตัวเต้นท์สามารถป้องกันน้ำได้มากขึ้น ขณะที่มีน้ำหนักและความหนาของเต้นท์น้อยลง
เต็นท์โดมสำหรับ 1 คน 
ขนาด 250x80x75 cm. 
น้ำหนัก 2 kg. 




ลักษณะการออกแบบ
Ultralight 1ได้ถูกออกแบบให้ใช้งานในเขต Tropical Zone หรือในเขตร้อนชื้นเป็นหลัก ซึ่งหัวใจของการออกแบบยังคงไว้ซึ่งความสามารถในการป้องกันฝน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถเก็บความอบอุ่นในเต้นท์ในฤดูหนาวอีกด้วย จะเห็นได้จากการออกแบบช่องลมที่ตัว sheet ด้านนอกแบบยกเผยอขึ้นทั้งทางส่วนหัวและส่วนท้าย เพื่อให้อากาศไหลผ่านได้ดีส่วนด้านในบางส่วนถูกออกแบบให้เป็นตาข่าย เพื่อระบายความชื้นด้านในสุดออกไปด้านนอก ซึ่งสามารถป้องกันการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำภายในตัวเต้นท์ หากต้องใช้เต้นท์ในช่วงฤดูหนาว บนยอดเขาที่อุณหภูมิต่ำมาก ๆ ผู้ใช้งานสามารถปิดช่องลมเพื่อให้ตัวเต้นท์เก็บความร้อนได้มากขึ้น รวมไปถึงจุดยึดและสมอบกสามารถต้านทานแรงลมได้เป็นอย่างดี

ผลจากการทดสอบใช้งาน
จากการทดสอบใช้งานที่ดอยหลวงเชียงดาว อุณหภูมิ 6 องศาเซลเซียสบนยอดดอย เต้นท์เก็บความอบอุ่นได้อย่างยอดเยี่ยม ตัวเต้นท์ชั้นในสุดแห้งไม่ปรากฏการกลั่นตัวของหยดน้ำเลย มีเพียงหยดน้ำที่เกาะบริเวณตัว Sheet ด้านนอกเท่านั้น น้ำหนักโดยรวมมีน้ำหนักไม่เกิน 2 กก. ถือว่าเป็นเต้นท์ที่มีน้ำหนักเบาและขนาดเล็กมาก ขนย้ายสะดวก ไม่ว่าจะติดจักรยานสำหรับเดินทางไกล ใส่ในเป้เดินทางในป่า หรือแม้แต่ใส่ไว้ท้ายเรือคยัคเดินทางในทะเลหรือล่องแม่น้ำ  เรื่องความกันฝนถือได้ว่าเยี่ยมยอดที่สุดในท้องตลาดตอนนี้ ด้วยวัสดุที่ใช้เคลือบเป็น Silicone ทำให้ความกันฝนได้มากขึ้น สมที่เป็นเต้นท์ Top ที่สุดของ ไลน์การผลิตของคาราน่า และตีตรา Equinox ได้อย่างสมภาคภูมิ
ในเรื่องความทนทานของเสาและโครงสร้างจัดได้ว่าเยี่ยมยอดเหมือนกัน เคยนำไปใช้กางทิ้งไว้ตอนทดลองใช้งานครั้งแรกมีประตูไม้ขนาดใหญ่ล้มลงมาทับ อีกครั้งนึงก็เป็นกิ่งไม้ขนาดใหญ่หล่นใส่กลางเต้นท์  ตอนที่เห็นทีแรกนึกว่าเรียบร้อยไปซะแล้ว ถ้าเป็นเสาเต้นท์แบบอื่นคงจะหักเรียบร้อยไปแล้ว แต่หลังจากยกประตูไม้ขึ้นมา แล้วตรวจดูความเสียหาย ไม่เน่าเชื่อครับ เสาโครงสร้างของเต้นท์ไม่หักแค่บิดและโค้งงอผิดรูปไปเท่านั้นเองครับ ตอนแรกแทบจะไม่กล้าดัด เพราะกลัวเสาหัก กะว่าจะส่งไปเปลี่ยนเสาใหม่ แต่พวกเราจำเป็นต้องใช้งานต่อ พนักงานที่รับผิดชอบเรื่อง R&D เขาแนะนำให้ดัดด้วยมือและใช้งานไปก่อน  เมื่อกลับมาจากภาคสนามค่อยมาเปลี่ยน สิ่งที่น่าทึ่งทีุ่สุดก็คือเวลาเราดัดก้านอลูมิเนียมเสร็จแล้วแทบไม่มีร่องรอยให้เห็น แต่ต้องใช้พลังงานไปเยอะพอสมควร เพราะก้านเสาแข็งมากจริง ๆ แต่ก็สามารถคืนรูปกลับมาอยู่ในสภาพเดิมได้ ที่สำคัญคือสามารถนำกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม สู้ลมสู้ฝนได้แบบไม่ยั่น สมแล้วที่เป็นอลูมินั่มเกรดอากาศยานจริงๆ ครับ
ถ้าคุณกำลังมองหาเต้นท์ดี ๆคู่ใจ คุณภาพสูง น้ำหนักเบา ความแข็งแรงเป็นยอด สำหรับการเดินทางผจญภัยไปทุก ๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นทริปชิว ๆ หรือทริปสำรวจแบบExpedition โหด ๆ  เต้นท์รุ่นนี้คือคำตอบครับ รับรองไม่ผิดหวัง เปรียบเทียบราคากับคุณภาพที่ได้รับถือว่าคุ้มค่าครับ
ผลการประเมิน                  ***** ( ระดับยอดเยี่ยม)
เพื่อน ๆ ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ครับ
 ชมรายละเอียดเพิ่มเติม

อันตรายที่พบได้ในถ้ำ

1.   ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าปรกติ
บริเวณที่มีคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าปรกติเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุดสำหรับการสำรวจถ้ำ  บางพื้นที่จะเรียกว่า ถ้ำสูญญากาศคือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในบางบริเวณของถ้ำที่มีสัดส่วนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศสูงกว่าปรกติ  ส่วนใหญ่จะส่งผลให้ก๊าซออกซิเจนในอากาศลดลงด้วย  เมื่อจุดไฟแช็คจะไม่ติดไฟเพราะออกซิเจนในอากาศไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการเผาไหม้

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้นได้อย่างไร

          ถ้ำในประเทศไทยส่วนใหญ่จะพบปัจจัยของการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในถ้ำ  5  ปัจจัยได้แก่
1.    การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงและวัสดุที่ติดไฟเช่น  เทียน  ตะเกียง  คบไฟ
2.    การย่อยสลายของซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมในถ้ำโดยแบคทีเรีย
3.    การหายใจของสิ่งมีชีวิต เช่น คน หรือสัตว์ที่อยู่ในถ้ำ
4.    การปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากดินและหิน
5.    การปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากน้ำในถ้ำในกระบวนการตกตะกอนของแคลเซียมคาร์บอเนต
เมื่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นประกอบกับบางบริเวณไม่มีการไหลเวียนของอากาศทำให้มีการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นเรื่อย ๆ   จากการสำรวจถ้ำหลายแห่งในประเทศไทยพบว่าปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์มีระดับตั้งแต่ปรกติ คือประมาณ 0.034 เปอร์เซ็นต์ของอากาศจนถึงระดับที่มากกว่าปรกติตั้งแต่  5 % ขึ้นไป ซึ่งเป็นระดับที่อันตรายต่อร่างกายของคน
          การสะสมตัวของ คาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้นในบริเวณที่มีความเหมาะสม เช่น โถงถ้ำมีขนาดเล็ก  ทางเข้าออกมีทางเดียว  ถ้ำที่เป็นเหวลึกหรือชัน  ไม่มีการไหลเวียนของอากาศ  มีซากพืชซากสัตว์ทับถมและย่อยสลายอยู่ภายใน    ตามปรกติชั้นของคาร์บอนไดออกไซด์มักจะสะสมตัวอย่างด้านล่างต่ำกว่าออกซิเจน เพราะมวลโมเลกุลที่หนักกว่าทำให้ยิ่งลึกลงไปยิ่งมีส่วนผสมของคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นเรื่อย ๆ
          การเคลื่อนไหวของคาร์บอนไดออกไซด์จะมีการเคลื่อนไหวตามความแตกต่างของความกดอากาศระหว่างภายในกับภายนอกถ้ำ ในกรณีของโถงถ้ำที่มีทางเข้าออกทางเดียว หากภายนอกถ้ำมีอุณหภูมิสูงกว่าภายในทำให้อากาศภายในถ้ำที่มีความหนาแน่นมากกว่าพาคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาบริเวณปากถ้ำ  และหากภายนอกถ้ำมีอุณหภูมิต่ำกว่าในถ้ำจะทำให้ความกดอากาศสูงจากนอกถ้ำดันคาร์บอนไดออกไซด์ไหลกลับเข้าไปด้านใน

คาร์บอนไดออกไซด์มีผลอย่างไรกับร่างกายของคน

          ผลของคาร์บอนไดออกไซด์จะมีผลต่อระบบการหายใจและแลกเปลี่ยนก๊าซระหว่างคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดกับออกซิเจนที่เราสูดหายใจเข้าไปยังปอด  ทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดหมุนเวียนขึ้นไปยังสมอง และสมองจะอยู่ในสภาพขาดออกซิเจน   ในเบื้องต้นหากคนเราอยู่ในสภาพที่มีคาร์บอนไดออกไซด์สูงมาก ๆ จะทำให้ เกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงเริ่มจากท้ายทอยอ้อมมาถึงขมับ  สมองมึนงง  หมดแรงหมดสติและถึงแก่ชีวิตในที่สุด  

 ตาราง 4 แสดงระดับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์
ระดับของคาร์บอนไดออกไซด์

อาการที่ปรากฏต่อร่างกาย

0.034%
ไม่มีอาการใด ๆ เกิดขึ้น อยู่ในสภาวะปรกติ
0.5 %
ปอดจะทำงานเพิ่มขึ้นประมาณ  5  %
2.0 %
ปอดจะทำงานเพิ่มขึ้นประมาณ 50 % เกิดอาการปวดศีรษะเมื่ออยู่ในถ้ำนานหลายชั่วโมง
3.0 %
ปอดทำงานเพิ่มขึ้นประมาณ  100 % มีอาการเหนื่อยหอบหลังจากออกแรงและมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง
> 5 %
อาการหอบมีมากขึ้นและรุนแรง สมองมึนงง ปวดศีรษะอย่างรุนแรงหลังจากอยู่ในถ้ำไม่กี่นาทีและเสียชีวิตในเวลาไม่นาน
ที่มา…………
การทดสอบระดับของคาร์บอนไดออกไซด์
          การทดสอบระดับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำได้ดังนี้
1)    การทดสอบโดยตรง วิธีที่ปลอดภัยที่สุดคือการใช้อุปกรณ์อิเลคทรอนิคที่เรียกว่า “CO2 Meter”  ใช้พกติดตัวทุกครั้งที่ทำการสำรวจถ้ำ  อุปกรณ์ชนิดนี้จะสามารถส่งสียงเตือนทันทีที่ระดับของคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อนักสำรวจ (ก่อนใช้งานต้องมีการ setup เครื่องเพื่อตั้งค่า CO2 ในอากาศก่อน)
2)    การทดสอบโดยทางอ้อมด้วยวิธีตรวจเช็คระดับสัดส่วนของก๊าซออกซิเจน  การทดสอบเบื้องต้นโดยใช้ ไม้ขีด  เทียน  ไฟแช็คและตะเกียงคาร์ไบด์ที่ใช้ก๊าซ อะเซทิลีน  การทดสอบเหล่านี้ไม่สามารถบอกระดับของคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ  แต่ใช้หลักการแปรผันของสัดส่วนอากาศระหว่างคาร์บอนไดออกไซด์และออกซิเจน  หากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีเพิ่มขึ้นจะทำให้สัดส่วนของออกซิเจนในอากาศลดลง  เมื่อออกซิเจนในอากาศมีน้อยจะทำให้ไม่เกิดการเผาไหม้ ซึ่งการทดสอบในแต่ละชนิดจะมีสัดส่วนของการเผาไหม้จากออกซิเจนแตกต่างกัน  ตามปรกติอุปกรณ์เบื้องต้นที่นิยมที่สุดในการตรวจสอบก็คือ ไฟแช็ค เพราะไฟแช็คจะติดไฟได้ในระดับของออกซิเจนอย่างน้อยที่สุดประมาณ  14-13 %  คาร์บอนไดออกไซด์จะอยู่ที่ประมาณ  1.9 % ของสัดส่วนอากาศ  ในบางกรณีค่าของคาร์บอนไดออกไซด์จะแปรผันมากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในถ้ำ  หากพบกรณีนี้จะต้องรีบออกจากถ้ำโดยเร็วที่สุด
(เราจะรู้ได้อย่างไรว่าในถ้ำมีระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นอันตรายต่อคน ในกรณีที่เราจุดไฟแช็คเช็ค เราจะสังเกตเห็นเปลวไฟของไฟแช็คมีการขาดช่วงอย่างเห็นได้ชัด เปลวไฟจะลอยเผาไหม้อยู่ด้านบน เปลวไฟจะขาดช่วงประมาณ 15 เซนติเมตร เมื่อลดไฟแช็คลงไฟจะลอยและดับลง นั่นแสดงถึงระดับชั้นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นอันตรายต่อนักสำรวจ ยิ่งเดินเข้าไปลึกเรื่อย ๆ ชั้นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ )
3)    การทดสอบโดยใช้อาการผิดปรกติของร่างกายเป็นเครื่องวัด  เช่น  ความผิดปรกติของการหายใจ  อาการปวดศีรษะ  การทดสอบชนิดนี้จะต้องเคยมีประสบการณ์ในถ้ำที่มีระดับคาร์บอนไดออกไซด์สูงมาก่อนจึงสามารถประเมินได้
2.  อุณหภูมิของร่างกายลดต่ำกว่าปรกติ
ความเย็นในถ้ำถือว่าเป็นอันตรายรองลงมา ตามปรกติน้ำในถ้ำจะมีความเย็นมากกว่าน้ำที่อยู่ภายนอกถ้ำ  ถ้ำบางที่ในฤดูร้อนมีอุณหภูมิน้ำประมาณ 16-18  องศาเซลเซียสบางช่วงมีลมแรงมาก  การแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานานทำให้เสี่ยงต่ออาการไฮโปเทอร์เมีย(Hypothermia) หรือ  อาการของคนที่อุณหภูมิในร่างกายต่ำเกินไปคือ  ตัวสั่น  เดินช้า  ปล่อยของหลุดจากมือ  กล้ามเนื้อไม่ค่อยเคลื่อนไหว  พูดไม่สะดวก มองเห็นไม่ชัดเจน  จิตใจเริ่มไม่อยู่กับร่องกับรอย  ถ้ำอุณหภูมิในร่างกายลดลง 5-6  องศาจะทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้  ดังนั้นการเตรียมชุดเสื้อผ้าและอุปกรณ์จึงมีความจำเป็นต้องเป็นชุดที่สามารถรักษาอุณหภูมิของร่างกายได้ในระดับหนึ่ง
3.    น้ำท่วมอย่างฉับพลัน
ถ้ำบางถ้ำที่มีพื้นที่ลุ่มน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำมาก  และมีลำธารไหลลอดมักพบปัญหาน้ำท่วมถ้ำในฤดูฝน  การสำรวจถ้ำประเภทนี้จำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงการสำรวจในช่วงเวลาดังกล่าว  เพราะจะเกิดอันตรายจากน้ำป่า  และน้ำท่วมถ้ำ  เราจะทราบได้อย่างไรว่ามีน้ำท่วมถ้ำ  การสำรวจจะอาศัยการสังเกตุตามผนังถ้ำหรือเพดานถ้ำหากมีโคลนเคลือบอยู่หรือมีเศษไม้ติดอยู่  แสดงว่าในฤดูฝนช่วงที่มีฝนตกน้ำในลำห้วยมีโอกาสท่วมจนเต็มถ้ำได้
4.    การหลงทางภายในถ้ำ
การสำรวจถ้ำที่มีความยากและซับซ้อนโถงถ้ำมีขนาดใหญ่และมีกองหินถล่ม  มีโอกาสเกิดการหลงทางได้ง่าย ดังนั้นต้องมีการทำเครื่องหมายนำทาง เช่นการทิ้งสัมภาระไว้บริเวณทางแยกก่อนเข้าไปสำรวจเพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงว่าจะกลับมาอีกครั้งหากมีการหลงทาง นักสำรวจร่วมคณะสามารถตามเข้าไปช่วยเหลือได้  หรือใช้วิธีการทำเทปนำทางวางไว้เป็นแนวเดินสำหรับเดินกลับออกมา
5.   อุปกรณ์สำรวจมีปัญหา  เช่น  ไฟฉายดับ  ไม่มีหลอดไฟสำรอง หรือถ่านไฟฉายหมด
การเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมและเพียงพอสำหรับการสำรวจ  โดยการกำหนดเวลา ชั่วโมงทำงานที่จะอยู่ในถ้ำพร้อมกับเตรียมอุปกรณ์เช่น ไฟฉายสำรองอีก  2  ชุด  และแบตเตอรี่รี่สำรองดวงเทียนไฟฉายไว้อีกเท่าหนึ่งเสมอ  หากเกิดกรณีต้องใช้เวลาในการเดินทางกลับมากกว่าปรกติหรือหลงทาง
6.   อันตรายจากอุบัติเหตุ เช่น การพลัดตกจากที่สูง  การลื่นล้มแขน ขาหัก หินร่วงลงมาจากเพดานถ้ำ และหินถล่ม ฯลฯ
อันตรายจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในถ้ำ เป็นเรื่องที่ยุ่งยากสำหรับการนำคนเจ็บออกมา  แต่สามารถลดให้เกิดอาการบาดเจ็บน้อยที่สุดได้โดยการสวมอุปกรณ์ป้องกัน  เช่น  หมวกนิรภัย  ถุงมือ  สนับเข่า  สนับแข้ง  รองเท้าบู๊ตที่แข็งแรง  สามารถลดอาการบาดเจ็บได้ในระดับหนึ่ง

อุปกรณ์ที่ใช้ในการสำรวจถ้ำ

การสำรวจถ้ำป่าถ้ำเถื่อนที่ยังไม่เคยมีผู้ใดเคยสำรวจมาก่อน  หรือถ้ำที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว  แน่นอนเราจะพบว่าเป็นสถานที่ที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ ให้กับนักสำรวจ  ดังนั้น  การเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด  คณะสำรวจจะต้องพร้อมที่สุดสำหรับความปลอดภัยของตนเอง  
ถ้ำมีสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย บางถ้ำเป็นถ้ำแห้ง  บางถ้ำเป็นถ้ำเปียกหรือถ้ำน้ำต้องพบกับสภาพอากาศที่มีความชื้นสูงเสี่ยงต่อการสูญเสียน้ำในร่างกาย  บางที่มีอากาศหนาวเย็นต้องว่ายน้ำเป็นเวลาหลายชั่วโมงและเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา  ถ้ำบางถ้ำจะเป็นอุโมงค์แคบ ๆ เต็มไปด้วยโคลนจะต้องค่อย ๆ คลานเข้าไปจนหน้าอกติดพื้นถ้ำและหลังติดเพดานมีอากาศน้อย  บางครั้งจะพบเหวลึกและหน้าผาน้ำตกที่มีความสูงชัน  ถ้ำบางถ้ำจะมีเส้นทางวกวนซับซ้อนเป็นเขาวงกต  ( maze cave ) ดังนั้นจึงควรเตรียมตัวและอุปกรณ์ที่พร้อมสำหรับการสำรวจในแต่ละครั้ง  
อุปกรณ์ที่นักสำรวจถ้ำจะต้องใช้ คือ
1.    หมวกนิรภัยหรือหมวกป้องกัน (Helmet) ศรีษะเป็นสิ่งที่เปราะบางที่สุดดังนั้นหมวกนิรภัยเป็นสิ่งที่จะต้องสวมใส่ไว้ที่ศรีษะตลอดเวลาเพื่อป้องกันอันตรายจากการกระแทกหรือชนหิน  หรือเศษหินที่ร่วงลงมาจากเพดานถ้ำ 
2.    อุปกรณ์ให้แสงสว่าง (Light)ประกอบด้วยไฟไม่น้อยกว่า  3  ชุด คือ  ไฟชุดหลัก( Main light ) ซึ่งจะติดไว้บริเวณศรีษะเพื่อให้มือสามารถจับหรือปีนหินได้สะดวก  อุปกรณ์มาตราฐานของนักสำรวจถ้ำจะต้องใช้หลอดไฟกำลังไฟสูงที่ให้แสงสว่างได้กว้างและไกล  ไฟสำรอง (reserve light )ใช้เป็นไฟแบ็คอัพสำหรับต้องการความสว่างมากกว่าปรกติหรือในกรณีที่ไฟชุดหลักมีปัญหา  อาจใช้หลอดไฟที่มีมาตราฐานเดียวกันหรือต่างกันก็ได้  หรืออาจเป็นไฟชนิดอื่น เช่น  จากคาร์ไบด์  จะติดไว้ที่หมวกนิรภัยเช่นกัน  ไฟฉุกเฉิน( Emergency light )  ใช้ในกรณีที่ไฟทั้งสองมีปัญหา  อาจเป็นไฟฉายหรือเทียนไข  ไฟแช็คก็ได้  และที่สำคัญที่สุดจะต้องเตรียมหลอดไฟสำรองในจำนวนที่มากพอและถ่านไฟฉายสำรองซึ่งคำนวนจากเวลาที่ต้องทำงานในถ้ำ  และเผื่อไว้อีกเท่าตัวเสมอในกรณีที่หลงทางหรือใช้เวลามากกว่าที่วางแผนเอาไว้
3.    อุปกรณ์ป้องกันสำหรับอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น  ถุงมือ  สนับข้อศอก  สนับเข่า  และสนับแข้ง  เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการกระแทก  การลื่นไถล  และถูกหินบาด
4.    ชุดที่ใช้สวมใส่ในการสำรวจ  เสื้อผ้าปรกติสำหรับการสำรวจถ้ำแห้ง  และถ้ำที่จะต้องลุยน้ำในบางครั้งซึ่งอาจจะเป็นชุดเดินป่าปรกติหรือเป็นกางเกงวอร์มรัดรูป  เสื้อยืดรัดรูปแขนยาว  ใส่ทับด้วยกางเกงขาสั้นหรือขายาวและเสื้อยืดแขนสั้น มีข้อดีคือกระชับร่างกาย  แห้งเร็ว  เก็บความร้อนของร่างกายได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีชุดพิเศษอื่น ๆ อีก เช่น  ชุด Wet suit สำหรับสวมใส่ในกรณีที่ต้องอยู่ในน้ำเป็นเวลานานหรืออยู่ในน้ำเย็นเพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อนจากร่างกาย  และชุด Over suit สำหรับสวมใส่ในกรณีต้องสำรวจถ้ำที่เต็มไปด้วยโคลนเพื่อป้องกันร่างกายและเสื้อผ้าเปื้อน
5.    รองเท้าที่ใช้ในการสำรวจ  แบ่งออกเป็น  2  ประเภทใหญ่ ๆ   คือ  รองเท้าที่ใส่ในการสำรวจปรกติอาจเป็นรองเท้าหุ้มข้อ  ทำจากผ้าใบ  หนัง หรือหนังผสมผ้าใบก็ได้  รองเท้าที่ทำจากวัสดุต่างกันจะมีคุณสมบัติความทนทาน ความรวดเร็วในการแห้งต่างกัน  แต่หัวใจสำคัญของรองเท้าที่ใช้สวมใส่ในการสำรวจจะต้องมีพื้นที่กระจายน้ำหนักและรักษารูปเท้าได้ดี เพื่อใช้ในการปีนหินหรือที่สูงชัน  ข้อเท้าจะได้ไม่ทำงานหนักจนเกินไปหรือเท้าเกิดอาการบิดจนเกิดอาการบาดเจ็บ  ดอกยางเป็นยางดิบที่มีความเหนียวและยืดหยุ่นสูง  สามารถยึดเกาะหินได้ดี พื้นรองเท้าต้องมีดอกลายหยาบสามารถใช้ได้ดีบนดิน  โคลน  ทราย  และหิน  ไม่ควรใช้รองเท้าพื้นยางแข็งจัดหรือพื้นยางอ่อนจัดที่มีดอกเรียบจะทำให้เกิดการลื่นไถลได้ง่ายเมื่อย่ำโคลนและมาเดินบนหิน  รองเท้าอีกประเภทหนึ่งที่มีความจำเป็นก็คือ  รองเท้าบู๊ตยางทรงสูง  ซึ่งใช้ในการลุยโคลนและน้ำรองเท้าประเภทนี้มีข้อดีคือสามารถทำความสะอาดและทำให้แห้งได้โดยการเช็ดเท่านั้น
6.    อุปกรณ์ที่ใช้ในการสำรวจทำแผนที่ถ้ำ  ได้แก่ อุปกรณ์หาพิกัดโดยใช้สัญญานดาวเทียว (GPS) , เข็มทิศ  เครื่องวัดมุมดิ่ง  เทปวัดระยะ  สมุดบันทึกที่สามารถป้องกันน้ำได้  แผนที่ภูมิประเทศ
7.    อุปกรณ์สำหรับขึ้นลงทางดิ่ง  เช่น  บันไดสลิงค์สำหรับขึ้นลงความสูงไม่มากนัก  ชุดอุปกรณ์ขึ้นลงเชือกสำหรับถ้ำที่เป็นเหวลึกไม่สามารถเดินหรือปีนลงไปได้  หรือบางครั้งจะต้องพบกับเหว  น้ำตกภายในถ้ำอุปกรณ์เหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง  นักสำรวจถ้ำจะต้องได้รับการฝึกฝนให้สามารถใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างถูกต้องและเชี่ยวชาญ  รู้ถึงข้อจำกัดการใช้  ความปลอดภัยในการใช้  งาน (สำหรับถ้ำที่ต้องใช้เทคนิคการโรยตัว-ไต่เชือก)
8.    อุปกรณ์อิเลคทรอนิคอื่น ๆ ที่จำเป็น  เช่น  )  อุปกรณ์วัดระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ(CO2 Meter)  อุปกรณ์การวิจัยทางวิทยาศาสตร์  อาทิ  เครื่องวัดอุณหภูมิความชื้น  เครื่องวัดความเป็นกรดด่างของน้ำ  เครื่องวัดความเร็วลม  เครื่องวัดความเร็วกระแสน้ำ  ฯลฯ (สำหรับการเก็บข้อมูลในถ้ำ ข้อมูลสภาพแวดล้อม)
9.    อุปกรณ์ดำน้ำ  (สำหรับการสำรวจถ้ำที่อยู่ใต้น้ำ)
10. อุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็นโดยจะต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติการป้องกันน้ำและความทนทานสูงเป็นหลัก  เช่น
10.1       เป้ใส่สัมภาระ ต้องหนา  ไม่ซับน้ำ  มีช่องระบายน้ำออกได้ดี และน้ำหนักเบา
10.2       ถุงกันน้ำและกล่องพลาสติกใช้ใส่สัมภาระและอุปกรณ์ที่นำติดตัวไปขณะเข้าสำรวจหรือเข้าไปตั้งแคมป์สำรวจในถ้ำในกรณีที่ถ้ำมีความยาวมาก
10.3       เสื้อชูชีพสำหรับคนที่ว่ายน้ำไม่แข็ง
10.4       ยาและเครื่องเวชภัณฑ์ที่จำเป็น

กฎเกณฑ์และข้อปฎิบัติเมื่อสำรวจถ้ำ

คุณรู้ไหม  นักสำรวจถ้ำเก่ง ๆ หลายคนได้เสียชีวิตมาแล้ว จากความประมาท  ความไม่พร้อมของอุปกรณ์และอุบัติเหตุจากการสำรวจถ้ำใต้น้ำ  ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจึงได้กำหนดกฏเกณฑ์ในการเข้าถ้ำที่ทุกคนยอมรับและปฏิบัติไม่ว่าจะเป็น นักถ้ำวิทยา(Speleologist) , ผู้ชำนาญการสำรวจถ้ำ(Cave Specialist) , นักท่องถ้ำ(Caver)
1.    การสำรวจถ้ำทุกครั้งจะต้องสวมหมวกนิรภัยตลอดเวลา
2.    อุปกรณ์ให้แสงสว่างจะต้องมีอย่างน้อย  3  ชุด  ได้แก่  ไฟหลัก  ไฟสำรองและไฟฉุกเฉิน  ต้องเตรียมแบตเตอรี่  หลอดไฟสำรองให้เพียงพอและเผื่อ อย่างน้อย  1  เท่าเสมอ
3.    การสำรวจถ้ำจะต้องเข้าสำรวจอย่างน้อย  4  คน  ถ้าคนใดคนหนึ่งไม่พร้อมจะต้องกลับออกมาทั้งหมด  มิฉะนั้นจะเป็นภาระกับเพื่อนร่วมทีมทันที
4.    การเข้าถ้ำทุกครั้งจะต้องบอกกับเพื่อนหรือคนรู้จักที่แน่ใจว่าเมื่อคณะสำรวจยังไม่กลับมาตามกำหนด  เขาจะต้องหาคนตามไปช่วยเหลือได้  ต้องแจ้งถึงถ้ำที่เข้าสำรวจ  ใช้เวลาสำรวจนานเท่าใด  ที่สำคัญที่สุดกลับออกมาเมื่อใด
5.    นักสำรวจต้องเรียนรู้ความสามารถ  ข้อจำกัดของการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือที่ทำงานแต่ละชื้น  สามารถซ่อมบำรุงเมื่อเกิดปัญหาสามารถประยุกต์ดัดแปลงใช้เครื่องมือในกรณีที่จำเป็นได้  และต้องดูแลรักษาให้อุปกรณ์เครื่องมือพร้อมใช้งานตลอดเวลา
6.    ก่อนใช้งานอุปกรณ์พิเศษเช่น  อุปกรณ์ขึ้นลงเชือก  อุปกรณ์ดำน้ำ  จะต้องมีการฝึกหัดและฝึกฝนถึงขั้นตอนการทำงานให้ขึ้นใจก่อนเข้าสำรวจจริงทุกครั้ง  เพราะเมื่อเกิดปัญหาจะไม่มีใครสามารถช่วยได้นอกจากตัวเองเท่านั้น
7.    นักสำรวจจะต้องฝึกฝนการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและสามารถช่วยเหลือเพื่อนร่วมทีมได้เมื่อเกิดการบาดเจ็บ เพราะกว่าชุดกู้ภัยจะมาช่วยเหลือได้ต้องใช้เวลานาน  ถ้าเกิดกรณีจำเป็นต้องสามารถช่วยให้ผู้บาดเจ็บรอดชีวิตจนกว่าหน่วยกู้ภัยจะมาถึง
8.    การเข้าถ้ำทุกครั้งจะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อถ้ำ  พึงตระหนักไว้ว่าถ้ำทุกที่เป็นถ้ำที่มีระบบนิเวศเฉพาะและเปราะบาง  สิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปย่อมเกิดผลกระทบที่ยาวนาน  เช่น  ขยะ  ถ่านไฟฉายที่หมดแล้วมีมลพิษจากโลหะหนัก  เศษอาหารทำให้เชื้อราและแบคทีเรียบางชนิดสามารถเจริญเติบโตได้ดีหรือแม้กระทั่งเชื้อราและแบคทีเรียที่ติดเสื้อผ้าของผู้สำรวจเอง  ทุกสิ่งที่นำเข้าไปจะกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับถ้ำเสมอต้องนำกลับออกมาด้วยเท่าที่จะเป็นไปได้และจงรบกวนสิ่งมีชีวิตในถ้ำให้น้อยที่สุด
นักสำรวจถ้ำจะต้องตระหนักไว้เสมอและถามตัวเองก่อนเข้าสำรวจถ้ำทุกครั้งว่า  คุณรู้จักถ้ำดีเพียงใด  การสำรวจถ้ำธรรมชาติที่ยังไม่เคยมีผู้ใดย่างกรายเข้าไปก่อน  
ผู้สำรวจจะต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับถ้ำ  เช่น  ธรณีวิทยา  อุทกวิทยา  ตะกอนภายในถ้ำ  กลไกลของอากาศภายในถ้ำ  นิเวศวิทยาภายในถ้ำ  โบราณคดี  ฯลฯ  สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้สามารถลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับถ้ำ  ความปลอดภัยในชีวิตของตนเอง  ประสบการณ์การสำรวจถ้ำต้องใช้ระยะเวลาในการสั่งสม  สำหรับผู้ที่เริ่มเป็นนักสำรวจถ้ำ  ไม่ควรสำรวจถ้ำที่ยากควรเรียนรู้จากสิ่งที่ง่ายไปสู่สิ่งที่ยาก  ควรศึกษาจากการติดตามผู้ที่มีประสบการณ์เท่านั้น  จงตระหนักไว้เสมอว่า  นักสำรวจถ้ำมืออาชีพที่มีประสบการณ์เป็นสิบ ๆ ปีได้เสียชีวิตไปหลายคนจากอุบัติเหตุในการสำรวจ  ความไม่พร้อมและความประมาท

มารู้จักการสำรวจถ้ำกันดีกว่า.....

โดย อนุกูล สอนเอก
Adventure Specialist
Speleologist , Thailand Caving Club

ถ้ำคืออะไร…..สำคัญอย่างไร

เมื่อน้ำฝนที่ตกลงมารวมตัวกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศทำให้มีสภาพเป็นกรดอ่อน ๆ หรือที่เราเรียกกันว่ากรดคาร์บอนิค มีคุณสมบัติสามารถละลายหินปูน(Limestone)หรือหินที่อยู่ในกลุ่มแคลคาร์เรียสได้ดี  เมื่อน้ำฝนที่ตกลงมาบางส่วนซึมและใต้ดินและไหลบ่ามาตามหน้าดินมารวมกันกลายเป็นทางน้ำขนาดใหญ่  ส่วนที่ไหลซึมลงใต้ดินจะได้รับการเติมคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมการย่อยสลายของซากพืชซากสัตว์ของจุลินทรีย์เล็ก ๆ ในดิน 
น้ำที่ซึมลงไปรวมกันเกิดเป็นระดับน้ำใต้ดิน  รอการไหลซึมลงตามรอยแตก(joint)ของหินปูนและทำการละลายหินปูนจนเกิดเป็นโพรงถ้ำขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ  เมื่อระดับน้ำใต้ดินลดระดับลง  ทำให้เกิดช่องว่างอากาศภายในถ้ำขึ้น  น้ำภายในจะเริ่มไหล  ระดับน้ำใต้ดินจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดปี  และเริ่มกระบวนการพัฒนาของโถงถ้ำโดยใช้กระบวนการกษัยการ(Erosion)ควบคู่กับกระบวนการละลาย (Solution)การพัดพาตะกอนขนาดเล็กขัดสีพื้นถ้ำและผนังถ้ำ  ทำให้ระดับพื้นถ้ำต่ำลงเรื่อย ๆ   

ในขณะเดียวกันน้ำที่ซึมมาตามรอยแตกของหินจากเพดานถ้ำและผนังถ้ำก็มีการสะสมตัวของตะกอนหินปูน(Calciamcarbonate)โดยการที่น้ำใต้ดินมีสวนผสมของสารละลายแคลเซียมไบคาร์บอเนตปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาทำให้แคลเซียมที่อยู่ในสารละลายเริ่มตกตะกอนและจับตัวกันอีกครั้งเกิดรูปทรงที่แปลกตาของตะกอนภายในถ้ำที่เรารู้จักกันดีในชื่อของหินงอก(stalacmite)หินย้อย(Stalagtite)  รูปลักษณะของหินงอกหินย้อยจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับ สถานที่  กระบวนการเกิด  ความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมในบริเวณต่าง ๆ ภายในถ้ำ  ฯลฯ
เมื่อถ้ำมีการพัฒนาของโถงใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เพดานด้านบนจะเริ่มรับน้ำหนักไม่ไหวก็จะมีการถล่มของโถงถ้ำเกิดอาจเกิดเป็นช่องเปิดที่เป็นช่องทางเชื่อมต่อกับภายนอก กลายเป็นปากถ้ำหรือการถล่มบางครั้งจะไม่สามารถสร้างช่องทางเชื่อมต่อได้แต่สามารถทำให้เกิดลักษณะภูมิประเทศเฉพาะตัวบนพื้นโลกที่เกิดชึ้นในลักษณะภูมิประเทศคาร์สต(Karst)ก็คือ  แอ่งยุบ(Doline) 
ตามเส้นทางน้ำขนาดใหญ่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถสร้างเส้นทางเชื่อมต่อกับถ้ำต่างๆ เกิดเป็นโถงถ้ำที่ซับซ้อน  สร้างปากถ้ำหรือเส้นทางเชื่อมต่อกับโลกภายนอก 
หลังจากนั้นสิ่งมีชีวิตเริ่มเข้ามาอาศัยปากถ้ำเป็นที่หลบภัย  หากิน  หรือใช้เป็นที่อยู่อาศัย  บางชนิดหลงเข้าไปลึก ๆ ถ้าสามารถวิวัฒนาการและปรับตัวได้ก็เกิดเป็นสายพันธ์ใหม่ๆ ที่มีลักษณะเฉพาะ  อวัยวะบางอย่างหายไปเช่น  ตา ฯลฯ หรือการเพิ่มประสาทสัมผัสพิเศษเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่จำกัดได้  
ผู้ที่ทำงานเพื่อการสำรวจวิจัยถ้ำ ค้นหาเส้นทางและทำแผนที่โครงข่ายถ้ำใต้ดิน เก็บข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจในกระบวนการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทั้งภายในและภายนอกถ้ำ  รวมไปถึงการไขปริศนาต่าง ๆ ภายในโลกใต้พิภพที่มืดสนิทไร้แสงสว่างและสิ่งนำทาง  เราเรียกคนที่ทำงานเหล่านี้ว่า  ”นักวิจัยถ้ำหรือนักถ้ำวิทยา (Speleologist) ”