Explorer one Team

บริษัท เอ็กซ์พลอเรอร์วัน จำกัด ก่อตั้งโดย อนุกูล สอนเอก นักสำรวจวิจัยทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมปีนเขาเอเวอร์เรสต์ปี 2007 ตั้งขึ้นมาจากประสบการณ์ทำงานและประสบการณ์ผจญภัยที่หลากหลาย พวกเราพร้อมนำท่านเข้าสู่โลกผจญภัย กิจกรรมกลางแจ้งและการสำรวจทางธรรมชาติวิทยา Explorer One Team คือแหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญด้านสำรวจถ้ำ ปีนหน้าผา การพายคยัคล่องแก่ง การใช้ชีวิตในป่ารวมไปถึงการสำรวจทางภูมิศาสตร์ การใช้แผนที่และเ็ข็มทิศ อีกทั้งยังดำเนินงานให้การอบรมในศูนย์ฝึกทักษะการผจญภัยแขนงต่าง ๆ รวมไปถึงการกู้ภัยพิเศษประเภทต่าง ๆอาทิการกู้ภัยทางน้ำ หน้าผาสูง ในถ้ำ หรือแม้แต่การร่วมปฏิบัติงานกู้ภัยในป่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความชำนาญกว่า 18 ปีบนเส้นทางสายนี้

10/5/54

อุปกรณ์ที่ใช้ในการสำรวจถ้ำ

การสำรวจถ้ำป่าถ้ำเถื่อนที่ยังไม่เคยมีผู้ใดเคยสำรวจมาก่อน  หรือถ้ำที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว  แน่นอนเราจะพบว่าเป็นสถานที่ที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ ให้กับนักสำรวจ  ดังนั้น  การเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด  คณะสำรวจจะต้องพร้อมที่สุดสำหรับความปลอดภัยของตนเอง  
ถ้ำมีสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย บางถ้ำเป็นถ้ำแห้ง  บางถ้ำเป็นถ้ำเปียกหรือถ้ำน้ำต้องพบกับสภาพอากาศที่มีความชื้นสูงเสี่ยงต่อการสูญเสียน้ำในร่างกาย  บางที่มีอากาศหนาวเย็นต้องว่ายน้ำเป็นเวลาหลายชั่วโมงและเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา  ถ้ำบางถ้ำจะเป็นอุโมงค์แคบ ๆ เต็มไปด้วยโคลนจะต้องค่อย ๆ คลานเข้าไปจนหน้าอกติดพื้นถ้ำและหลังติดเพดานมีอากาศน้อย  บางครั้งจะพบเหวลึกและหน้าผาน้ำตกที่มีความสูงชัน  ถ้ำบางถ้ำจะมีเส้นทางวกวนซับซ้อนเป็นเขาวงกต  ( maze cave ) ดังนั้นจึงควรเตรียมตัวและอุปกรณ์ที่พร้อมสำหรับการสำรวจในแต่ละครั้ง  
อุปกรณ์ที่นักสำรวจถ้ำจะต้องใช้ คือ
1.    หมวกนิรภัยหรือหมวกป้องกัน (Helmet) ศรีษะเป็นสิ่งที่เปราะบางที่สุดดังนั้นหมวกนิรภัยเป็นสิ่งที่จะต้องสวมใส่ไว้ที่ศรีษะตลอดเวลาเพื่อป้องกันอันตรายจากการกระแทกหรือชนหิน  หรือเศษหินที่ร่วงลงมาจากเพดานถ้ำ 
2.    อุปกรณ์ให้แสงสว่าง (Light)ประกอบด้วยไฟไม่น้อยกว่า  3  ชุด คือ  ไฟชุดหลัก( Main light ) ซึ่งจะติดไว้บริเวณศรีษะเพื่อให้มือสามารถจับหรือปีนหินได้สะดวก  อุปกรณ์มาตราฐานของนักสำรวจถ้ำจะต้องใช้หลอดไฟกำลังไฟสูงที่ให้แสงสว่างได้กว้างและไกล  ไฟสำรอง (reserve light )ใช้เป็นไฟแบ็คอัพสำหรับต้องการความสว่างมากกว่าปรกติหรือในกรณีที่ไฟชุดหลักมีปัญหา  อาจใช้หลอดไฟที่มีมาตราฐานเดียวกันหรือต่างกันก็ได้  หรืออาจเป็นไฟชนิดอื่น เช่น  จากคาร์ไบด์  จะติดไว้ที่หมวกนิรภัยเช่นกัน  ไฟฉุกเฉิน( Emergency light )  ใช้ในกรณีที่ไฟทั้งสองมีปัญหา  อาจเป็นไฟฉายหรือเทียนไข  ไฟแช็คก็ได้  และที่สำคัญที่สุดจะต้องเตรียมหลอดไฟสำรองในจำนวนที่มากพอและถ่านไฟฉายสำรองซึ่งคำนวนจากเวลาที่ต้องทำงานในถ้ำ  และเผื่อไว้อีกเท่าตัวเสมอในกรณีที่หลงทางหรือใช้เวลามากกว่าที่วางแผนเอาไว้
3.    อุปกรณ์ป้องกันสำหรับอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น  ถุงมือ  สนับข้อศอก  สนับเข่า  และสนับแข้ง  เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการกระแทก  การลื่นไถล  และถูกหินบาด
4.    ชุดที่ใช้สวมใส่ในการสำรวจ  เสื้อผ้าปรกติสำหรับการสำรวจถ้ำแห้ง  และถ้ำที่จะต้องลุยน้ำในบางครั้งซึ่งอาจจะเป็นชุดเดินป่าปรกติหรือเป็นกางเกงวอร์มรัดรูป  เสื้อยืดรัดรูปแขนยาว  ใส่ทับด้วยกางเกงขาสั้นหรือขายาวและเสื้อยืดแขนสั้น มีข้อดีคือกระชับร่างกาย  แห้งเร็ว  เก็บความร้อนของร่างกายได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีชุดพิเศษอื่น ๆ อีก เช่น  ชุด Wet suit สำหรับสวมใส่ในกรณีที่ต้องอยู่ในน้ำเป็นเวลานานหรืออยู่ในน้ำเย็นเพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อนจากร่างกาย  และชุด Over suit สำหรับสวมใส่ในกรณีต้องสำรวจถ้ำที่เต็มไปด้วยโคลนเพื่อป้องกันร่างกายและเสื้อผ้าเปื้อน
5.    รองเท้าที่ใช้ในการสำรวจ  แบ่งออกเป็น  2  ประเภทใหญ่ ๆ   คือ  รองเท้าที่ใส่ในการสำรวจปรกติอาจเป็นรองเท้าหุ้มข้อ  ทำจากผ้าใบ  หนัง หรือหนังผสมผ้าใบก็ได้  รองเท้าที่ทำจากวัสดุต่างกันจะมีคุณสมบัติความทนทาน ความรวดเร็วในการแห้งต่างกัน  แต่หัวใจสำคัญของรองเท้าที่ใช้สวมใส่ในการสำรวจจะต้องมีพื้นที่กระจายน้ำหนักและรักษารูปเท้าได้ดี เพื่อใช้ในการปีนหินหรือที่สูงชัน  ข้อเท้าจะได้ไม่ทำงานหนักจนเกินไปหรือเท้าเกิดอาการบิดจนเกิดอาการบาดเจ็บ  ดอกยางเป็นยางดิบที่มีความเหนียวและยืดหยุ่นสูง  สามารถยึดเกาะหินได้ดี พื้นรองเท้าต้องมีดอกลายหยาบสามารถใช้ได้ดีบนดิน  โคลน  ทราย  และหิน  ไม่ควรใช้รองเท้าพื้นยางแข็งจัดหรือพื้นยางอ่อนจัดที่มีดอกเรียบจะทำให้เกิดการลื่นไถลได้ง่ายเมื่อย่ำโคลนและมาเดินบนหิน  รองเท้าอีกประเภทหนึ่งที่มีความจำเป็นก็คือ  รองเท้าบู๊ตยางทรงสูง  ซึ่งใช้ในการลุยโคลนและน้ำรองเท้าประเภทนี้มีข้อดีคือสามารถทำความสะอาดและทำให้แห้งได้โดยการเช็ดเท่านั้น
6.    อุปกรณ์ที่ใช้ในการสำรวจทำแผนที่ถ้ำ  ได้แก่ อุปกรณ์หาพิกัดโดยใช้สัญญานดาวเทียว (GPS) , เข็มทิศ  เครื่องวัดมุมดิ่ง  เทปวัดระยะ  สมุดบันทึกที่สามารถป้องกันน้ำได้  แผนที่ภูมิประเทศ
7.    อุปกรณ์สำหรับขึ้นลงทางดิ่ง  เช่น  บันไดสลิงค์สำหรับขึ้นลงความสูงไม่มากนัก  ชุดอุปกรณ์ขึ้นลงเชือกสำหรับถ้ำที่เป็นเหวลึกไม่สามารถเดินหรือปีนลงไปได้  หรือบางครั้งจะต้องพบกับเหว  น้ำตกภายในถ้ำอุปกรณ์เหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง  นักสำรวจถ้ำจะต้องได้รับการฝึกฝนให้สามารถใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างถูกต้องและเชี่ยวชาญ  รู้ถึงข้อจำกัดการใช้  ความปลอดภัยในการใช้  งาน (สำหรับถ้ำที่ต้องใช้เทคนิคการโรยตัว-ไต่เชือก)
8.    อุปกรณ์อิเลคทรอนิคอื่น ๆ ที่จำเป็น  เช่น  )  อุปกรณ์วัดระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ(CO2 Meter)  อุปกรณ์การวิจัยทางวิทยาศาสตร์  อาทิ  เครื่องวัดอุณหภูมิความชื้น  เครื่องวัดความเป็นกรดด่างของน้ำ  เครื่องวัดความเร็วลม  เครื่องวัดความเร็วกระแสน้ำ  ฯลฯ (สำหรับการเก็บข้อมูลในถ้ำ ข้อมูลสภาพแวดล้อม)
9.    อุปกรณ์ดำน้ำ  (สำหรับการสำรวจถ้ำที่อยู่ใต้น้ำ)
10. อุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็นโดยจะต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติการป้องกันน้ำและความทนทานสูงเป็นหลัก  เช่น
10.1       เป้ใส่สัมภาระ ต้องหนา  ไม่ซับน้ำ  มีช่องระบายน้ำออกได้ดี และน้ำหนักเบา
10.2       ถุงกันน้ำและกล่องพลาสติกใช้ใส่สัมภาระและอุปกรณ์ที่นำติดตัวไปขณะเข้าสำรวจหรือเข้าไปตั้งแคมป์สำรวจในถ้ำในกรณีที่ถ้ำมีความยาวมาก
10.3       เสื้อชูชีพสำหรับคนที่ว่ายน้ำไม่แข็ง
10.4       ยาและเครื่องเวชภัณฑ์ที่จำเป็น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ทุกความคิดเห็นของท่านจะถูกนำไปใช้ในการปรับปรุง web ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น