Explorer one Team

บริษัท เอ็กซ์พลอเรอร์วัน จำกัด ก่อตั้งโดย อนุกูล สอนเอก นักสำรวจวิจัยทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมปีนเขาเอเวอร์เรสต์ปี 2007 ตั้งขึ้นมาจากประสบการณ์ทำงานและประสบการณ์ผจญภัยที่หลากหลาย พวกเราพร้อมนำท่านเข้าสู่โลกผจญภัย กิจกรรมกลางแจ้งและการสำรวจทางธรรมชาติวิทยา Explorer One Team คือแหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญด้านสำรวจถ้ำ ปีนหน้าผา การพายคยัคล่องแก่ง การใช้ชีวิตในป่ารวมไปถึงการสำรวจทางภูมิศาสตร์ การใช้แผนที่และเ็ข็มทิศ อีกทั้งยังดำเนินงานให้การอบรมในศูนย์ฝึกทักษะการผจญภัยแขนงต่าง ๆ รวมไปถึงการกู้ภัยพิเศษประเภทต่าง ๆอาทิการกู้ภัยทางน้ำ หน้าผาสูง ในถ้ำ หรือแม้แต่การร่วมปฏิบัติงานกู้ภัยในป่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความชำนาญกว่า 18 ปีบนเส้นทางสายนี้

10/5/54

อันตรายที่พบได้ในถ้ำ

1.   ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าปรกติ
บริเวณที่มีคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าปรกติเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุดสำหรับการสำรวจถ้ำ  บางพื้นที่จะเรียกว่า ถ้ำสูญญากาศคือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในบางบริเวณของถ้ำที่มีสัดส่วนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศสูงกว่าปรกติ  ส่วนใหญ่จะส่งผลให้ก๊าซออกซิเจนในอากาศลดลงด้วย  เมื่อจุดไฟแช็คจะไม่ติดไฟเพราะออกซิเจนในอากาศไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการเผาไหม้

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้นได้อย่างไร

          ถ้ำในประเทศไทยส่วนใหญ่จะพบปัจจัยของการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในถ้ำ  5  ปัจจัยได้แก่
1.    การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงและวัสดุที่ติดไฟเช่น  เทียน  ตะเกียง  คบไฟ
2.    การย่อยสลายของซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมในถ้ำโดยแบคทีเรีย
3.    การหายใจของสิ่งมีชีวิต เช่น คน หรือสัตว์ที่อยู่ในถ้ำ
4.    การปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากดินและหิน
5.    การปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากน้ำในถ้ำในกระบวนการตกตะกอนของแคลเซียมคาร์บอเนต
เมื่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นประกอบกับบางบริเวณไม่มีการไหลเวียนของอากาศทำให้มีการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นเรื่อย ๆ   จากการสำรวจถ้ำหลายแห่งในประเทศไทยพบว่าปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์มีระดับตั้งแต่ปรกติ คือประมาณ 0.034 เปอร์เซ็นต์ของอากาศจนถึงระดับที่มากกว่าปรกติตั้งแต่  5 % ขึ้นไป ซึ่งเป็นระดับที่อันตรายต่อร่างกายของคน
          การสะสมตัวของ คาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้นในบริเวณที่มีความเหมาะสม เช่น โถงถ้ำมีขนาดเล็ก  ทางเข้าออกมีทางเดียว  ถ้ำที่เป็นเหวลึกหรือชัน  ไม่มีการไหลเวียนของอากาศ  มีซากพืชซากสัตว์ทับถมและย่อยสลายอยู่ภายใน    ตามปรกติชั้นของคาร์บอนไดออกไซด์มักจะสะสมตัวอย่างด้านล่างต่ำกว่าออกซิเจน เพราะมวลโมเลกุลที่หนักกว่าทำให้ยิ่งลึกลงไปยิ่งมีส่วนผสมของคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นเรื่อย ๆ
          การเคลื่อนไหวของคาร์บอนไดออกไซด์จะมีการเคลื่อนไหวตามความแตกต่างของความกดอากาศระหว่างภายในกับภายนอกถ้ำ ในกรณีของโถงถ้ำที่มีทางเข้าออกทางเดียว หากภายนอกถ้ำมีอุณหภูมิสูงกว่าภายในทำให้อากาศภายในถ้ำที่มีความหนาแน่นมากกว่าพาคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาบริเวณปากถ้ำ  และหากภายนอกถ้ำมีอุณหภูมิต่ำกว่าในถ้ำจะทำให้ความกดอากาศสูงจากนอกถ้ำดันคาร์บอนไดออกไซด์ไหลกลับเข้าไปด้านใน

คาร์บอนไดออกไซด์มีผลอย่างไรกับร่างกายของคน

          ผลของคาร์บอนไดออกไซด์จะมีผลต่อระบบการหายใจและแลกเปลี่ยนก๊าซระหว่างคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดกับออกซิเจนที่เราสูดหายใจเข้าไปยังปอด  ทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดหมุนเวียนขึ้นไปยังสมอง และสมองจะอยู่ในสภาพขาดออกซิเจน   ในเบื้องต้นหากคนเราอยู่ในสภาพที่มีคาร์บอนไดออกไซด์สูงมาก ๆ จะทำให้ เกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงเริ่มจากท้ายทอยอ้อมมาถึงขมับ  สมองมึนงง  หมดแรงหมดสติและถึงแก่ชีวิตในที่สุด  

 ตาราง 4 แสดงระดับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์
ระดับของคาร์บอนไดออกไซด์

อาการที่ปรากฏต่อร่างกาย

0.034%
ไม่มีอาการใด ๆ เกิดขึ้น อยู่ในสภาวะปรกติ
0.5 %
ปอดจะทำงานเพิ่มขึ้นประมาณ  5  %
2.0 %
ปอดจะทำงานเพิ่มขึ้นประมาณ 50 % เกิดอาการปวดศีรษะเมื่ออยู่ในถ้ำนานหลายชั่วโมง
3.0 %
ปอดทำงานเพิ่มขึ้นประมาณ  100 % มีอาการเหนื่อยหอบหลังจากออกแรงและมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง
> 5 %
อาการหอบมีมากขึ้นและรุนแรง สมองมึนงง ปวดศีรษะอย่างรุนแรงหลังจากอยู่ในถ้ำไม่กี่นาทีและเสียชีวิตในเวลาไม่นาน
ที่มา…………
การทดสอบระดับของคาร์บอนไดออกไซด์
          การทดสอบระดับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำได้ดังนี้
1)    การทดสอบโดยตรง วิธีที่ปลอดภัยที่สุดคือการใช้อุปกรณ์อิเลคทรอนิคที่เรียกว่า “CO2 Meter”  ใช้พกติดตัวทุกครั้งที่ทำการสำรวจถ้ำ  อุปกรณ์ชนิดนี้จะสามารถส่งสียงเตือนทันทีที่ระดับของคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อนักสำรวจ (ก่อนใช้งานต้องมีการ setup เครื่องเพื่อตั้งค่า CO2 ในอากาศก่อน)
2)    การทดสอบโดยทางอ้อมด้วยวิธีตรวจเช็คระดับสัดส่วนของก๊าซออกซิเจน  การทดสอบเบื้องต้นโดยใช้ ไม้ขีด  เทียน  ไฟแช็คและตะเกียงคาร์ไบด์ที่ใช้ก๊าซ อะเซทิลีน  การทดสอบเหล่านี้ไม่สามารถบอกระดับของคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ  แต่ใช้หลักการแปรผันของสัดส่วนอากาศระหว่างคาร์บอนไดออกไซด์และออกซิเจน  หากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีเพิ่มขึ้นจะทำให้สัดส่วนของออกซิเจนในอากาศลดลง  เมื่อออกซิเจนในอากาศมีน้อยจะทำให้ไม่เกิดการเผาไหม้ ซึ่งการทดสอบในแต่ละชนิดจะมีสัดส่วนของการเผาไหม้จากออกซิเจนแตกต่างกัน  ตามปรกติอุปกรณ์เบื้องต้นที่นิยมที่สุดในการตรวจสอบก็คือ ไฟแช็ค เพราะไฟแช็คจะติดไฟได้ในระดับของออกซิเจนอย่างน้อยที่สุดประมาณ  14-13 %  คาร์บอนไดออกไซด์จะอยู่ที่ประมาณ  1.9 % ของสัดส่วนอากาศ  ในบางกรณีค่าของคาร์บอนไดออกไซด์จะแปรผันมากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในถ้ำ  หากพบกรณีนี้จะต้องรีบออกจากถ้ำโดยเร็วที่สุด
(เราจะรู้ได้อย่างไรว่าในถ้ำมีระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นอันตรายต่อคน ในกรณีที่เราจุดไฟแช็คเช็ค เราจะสังเกตเห็นเปลวไฟของไฟแช็คมีการขาดช่วงอย่างเห็นได้ชัด เปลวไฟจะลอยเผาไหม้อยู่ด้านบน เปลวไฟจะขาดช่วงประมาณ 15 เซนติเมตร เมื่อลดไฟแช็คลงไฟจะลอยและดับลง นั่นแสดงถึงระดับชั้นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นอันตรายต่อนักสำรวจ ยิ่งเดินเข้าไปลึกเรื่อย ๆ ชั้นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ )
3)    การทดสอบโดยใช้อาการผิดปรกติของร่างกายเป็นเครื่องวัด  เช่น  ความผิดปรกติของการหายใจ  อาการปวดศีรษะ  การทดสอบชนิดนี้จะต้องเคยมีประสบการณ์ในถ้ำที่มีระดับคาร์บอนไดออกไซด์สูงมาก่อนจึงสามารถประเมินได้
2.  อุณหภูมิของร่างกายลดต่ำกว่าปรกติ
ความเย็นในถ้ำถือว่าเป็นอันตรายรองลงมา ตามปรกติน้ำในถ้ำจะมีความเย็นมากกว่าน้ำที่อยู่ภายนอกถ้ำ  ถ้ำบางที่ในฤดูร้อนมีอุณหภูมิน้ำประมาณ 16-18  องศาเซลเซียสบางช่วงมีลมแรงมาก  การแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานานทำให้เสี่ยงต่ออาการไฮโปเทอร์เมีย(Hypothermia) หรือ  อาการของคนที่อุณหภูมิในร่างกายต่ำเกินไปคือ  ตัวสั่น  เดินช้า  ปล่อยของหลุดจากมือ  กล้ามเนื้อไม่ค่อยเคลื่อนไหว  พูดไม่สะดวก มองเห็นไม่ชัดเจน  จิตใจเริ่มไม่อยู่กับร่องกับรอย  ถ้ำอุณหภูมิในร่างกายลดลง 5-6  องศาจะทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้  ดังนั้นการเตรียมชุดเสื้อผ้าและอุปกรณ์จึงมีความจำเป็นต้องเป็นชุดที่สามารถรักษาอุณหภูมิของร่างกายได้ในระดับหนึ่ง
3.    น้ำท่วมอย่างฉับพลัน
ถ้ำบางถ้ำที่มีพื้นที่ลุ่มน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำมาก  และมีลำธารไหลลอดมักพบปัญหาน้ำท่วมถ้ำในฤดูฝน  การสำรวจถ้ำประเภทนี้จำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงการสำรวจในช่วงเวลาดังกล่าว  เพราะจะเกิดอันตรายจากน้ำป่า  และน้ำท่วมถ้ำ  เราจะทราบได้อย่างไรว่ามีน้ำท่วมถ้ำ  การสำรวจจะอาศัยการสังเกตุตามผนังถ้ำหรือเพดานถ้ำหากมีโคลนเคลือบอยู่หรือมีเศษไม้ติดอยู่  แสดงว่าในฤดูฝนช่วงที่มีฝนตกน้ำในลำห้วยมีโอกาสท่วมจนเต็มถ้ำได้
4.    การหลงทางภายในถ้ำ
การสำรวจถ้ำที่มีความยากและซับซ้อนโถงถ้ำมีขนาดใหญ่และมีกองหินถล่ม  มีโอกาสเกิดการหลงทางได้ง่าย ดังนั้นต้องมีการทำเครื่องหมายนำทาง เช่นการทิ้งสัมภาระไว้บริเวณทางแยกก่อนเข้าไปสำรวจเพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงว่าจะกลับมาอีกครั้งหากมีการหลงทาง นักสำรวจร่วมคณะสามารถตามเข้าไปช่วยเหลือได้  หรือใช้วิธีการทำเทปนำทางวางไว้เป็นแนวเดินสำหรับเดินกลับออกมา
5.   อุปกรณ์สำรวจมีปัญหา  เช่น  ไฟฉายดับ  ไม่มีหลอดไฟสำรอง หรือถ่านไฟฉายหมด
การเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมและเพียงพอสำหรับการสำรวจ  โดยการกำหนดเวลา ชั่วโมงทำงานที่จะอยู่ในถ้ำพร้อมกับเตรียมอุปกรณ์เช่น ไฟฉายสำรองอีก  2  ชุด  และแบตเตอรี่รี่สำรองดวงเทียนไฟฉายไว้อีกเท่าหนึ่งเสมอ  หากเกิดกรณีต้องใช้เวลาในการเดินทางกลับมากกว่าปรกติหรือหลงทาง
6.   อันตรายจากอุบัติเหตุ เช่น การพลัดตกจากที่สูง  การลื่นล้มแขน ขาหัก หินร่วงลงมาจากเพดานถ้ำ และหินถล่ม ฯลฯ
อันตรายจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในถ้ำ เป็นเรื่องที่ยุ่งยากสำหรับการนำคนเจ็บออกมา  แต่สามารถลดให้เกิดอาการบาดเจ็บน้อยที่สุดได้โดยการสวมอุปกรณ์ป้องกัน  เช่น  หมวกนิรภัย  ถุงมือ  สนับเข่า  สนับแข้ง  รองเท้าบู๊ตที่แข็งแรง  สามารถลดอาการบาดเจ็บได้ในระดับหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ทุกความคิดเห็นของท่านจะถูกนำไปใช้ในการปรับปรุง web ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น