โดย อนุกูล สอนเอก
Adventure Specialist
Speleologist , Thailand Caving Club
ถ้ำคืออะไร…..สำคัญอย่างไร
เมื่อน้ำฝนที่ตกลงมารวมตัวกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศทำให้มีสภาพเป็นกรดอ่อน ๆ หรือที่เราเรียกกันว่ากรดคาร์บอนิค มีคุณสมบัติสามารถละลายหินปูน(Limestone)หรือหินที่อยู่ในกลุ่มแคลคาร์เรียสได้ดี เมื่อน้ำฝนที่ตกลงมาบางส่วนซึมและใต้ดินและไหลบ่ามาตามหน้าดินมารวมกันกลายเป็นทางน้ำขนาดใหญ่ ส่วนที่ไหลซึมลงใต้ดินจะได้รับการเติมคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมการย่อยสลายของซากพืชซากสัตว์ของจุลินทรีย์เล็ก ๆ ในดิน
น้ำที่ซึมลงไปรวมกันเกิดเป็นระดับน้ำใต้ดิน รอการไหลซึมลงตามรอยแตก(joint)ของหินปูนและทำการละลายหินปูนจนเกิดเป็นโพรงถ้ำขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อระดับน้ำใต้ดินลดระดับลง ทำให้เกิดช่องว่างอากาศภายในถ้ำขึ้น น้ำภายในจะเริ่มไหล ระดับน้ำใต้ดินจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดปี และเริ่มกระบวนการพัฒนาของโถงถ้ำโดยใช้กระบวนการกษัยการ(Erosion)ควบคู่กับกระบวนการละลาย (Solution)การพัดพาตะกอนขนาดเล็กขัดสีพื้นถ้ำและผนังถ้ำ ทำให้ระดับพื้นถ้ำต่ำลงเรื่อย ๆ
ในขณะเดียวกันน้ำที่ซึมมาตามรอยแตกของหินจากเพดานถ้ำและผนังถ้ำก็มีการสะสมตัวของตะกอนหินปูน(Calciamcarbonate)โดยการที่น้ำใต้ดินมีสวนผสมของสารละลายแคลเซียมไบคาร์บอเนตปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาทำให้แคลเซียมที่อยู่ในสารละลายเริ่มตกตะกอนและจับตัวกันอีกครั้งเกิดรูปทรงที่แปลกตาของตะกอนภายในถ้ำที่เรารู้จักกันดีในชื่อของหินงอก(stalacmite)หินย้อย(Stalagtite) รูปลักษณะของหินงอกหินย้อยจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับ สถานที่ กระบวนการเกิด ความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมในบริเวณต่าง ๆ ภายในถ้ำ ฯลฯ
เมื่อถ้ำมีการพัฒนาของโถงใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เพดานด้านบนจะเริ่มรับน้ำหนักไม่ไหวก็จะมีการถล่มของโถงถ้ำเกิดอาจเกิดเป็นช่องเปิดที่เป็นช่องทางเชื่อมต่อกับภายนอก กลายเป็นปากถ้ำหรือการถล่มบางครั้งจะไม่สามารถสร้างช่องทางเชื่อมต่อได้แต่สามารถทำให้เกิดลักษณะภูมิประเทศเฉพาะตัวบนพื้นโลกที่เกิดชึ้นในลักษณะภูมิประเทศคาร์สต(Karst)ก็คือ แอ่งยุบ(Doline)
ตามเส้นทางน้ำขนาดใหญ่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถสร้างเส้นทางเชื่อมต่อกับถ้ำต่างๆ เกิดเป็นโถงถ้ำที่ซับซ้อน สร้างปากถ้ำหรือเส้นทางเชื่อมต่อกับโลกภายนอก
หลังจากนั้นสิ่งมีชีวิตเริ่มเข้ามาอาศัยปากถ้ำเป็นที่หลบภัย หากิน หรือใช้เป็นที่อยู่อาศัย บางชนิดหลงเข้าไปลึก ๆ ถ้าสามารถวิวัฒนาการและปรับตัวได้ก็เกิดเป็นสายพันธ์ใหม่ๆ ที่มีลักษณะเฉพาะ อวัยวะบางอย่างหายไปเช่น ตา ฯลฯ หรือการเพิ่มประสาทสัมผัสพิเศษเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่จำกัดได้
ผู้ที่ทำงานเพื่อการสำรวจวิจัยถ้ำ ค้นหาเส้นทางและทำแผนที่โครงข่ายถ้ำใต้ดิน เก็บข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจในกระบวนการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทั้งภายในและภายนอกถ้ำ รวมไปถึงการไขปริศนาต่าง ๆ ภายในโลกใต้พิภพที่มืดสนิทไร้แสงสว่างและสิ่งนำทาง เราเรียกคนที่ทำงานเหล่านี้ว่า ”นักวิจัยถ้ำหรือนักถ้ำวิทยา (Speleologist) ”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ทุกความคิดเห็นของท่านจะถูกนำไปใช้ในการปรับปรุง web ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น