นักสำรวจถ้ำ
อนุกูล สอนเอก
นับตั้งแต่มนุษย์คนแรกได้ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ การสนใจใคร่รู้ของมนุษย์ได้ขยายขอบเขตไปอย่างกว้างขวางไม่มีที่สิ้นสุด มันเป็นความต้องการเรียนรู้และทำความรู้จักกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว นักวิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ ได้พยายามทำการสำรวจทำความเข้าใจกับกลไกลการเปลี่ยนแปลงอันสลับซับซ้อนของโลกและธรรมชาติอันหลากหลาย
ณ. โลกหนึ่งที่อยู่นอกเหนือจากการคาดคิดและคาดเดาของมนุษย์ โลกที่ลึกลงไปใต้ชั้นหินและพื้นดินนับเป็นร้อยเป็นพันฟุต โลกที่ธรรมชาติมิได้สร้างให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ มีเพียงสิ่งมีชิวิตบางชนิดและพวกจุลชีพเท่านั้นที่สามารถดำรงอยู่และวนเวียนอยู่ในนั้นไม่รู้จักจบสิ้น
มันคือแหล่งที่บันทึกความเป็นมาและการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างเงียบ ๆ สิ่งมีชีวิตหลายชนิดมีวิวัฒนาการในแนวทางที่เป็นไปไม่ได้ ไม่มีตา ไม่มีสี มีประสาทสัมผัสที่ว่องไวที่เอื้อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในภาพแวดล้อมที่จำกัดได้ นับว่าเป็นของขวัญของธรรมชาติที่ประทานให้โดยแท้
ก้าวย่างของมนุษย์คนแรกที่ประทับไว้ใต้พิภพ อาจจะเทียบความสำคัญไม่ได้กับก้าวย่างแรกบนด้วยจันทร์ แต่คุณค่าของมันอยู่ที่การก้าวล่วงเข้าไปยังดินแดนที่มนุษย์ยังไม่รู้จักและเป็นย่างก้าวแรกของการศึกษาทำความเข้าใจในอาณาจักรใต้พิภพ
· ปฐมบท
วันหนึ่งในช่วงปลายฤดูฝนปี 2535
ฝนตกมาตั้งแต่เช้า หลังจากพวกเราเตรียมอุปกรณ์บางอย่างที่จำเป็น ก็เริ่มออกเดินไปตามทางเดินเล็ก ๆ ลัดเลาะตามริมน้ำ วันนี้เป็นวันแรกของการทำงานสำรวจที่ผมหนักใจมากที่สุดในชีวิต
ด้านหน้าของพวกเราคือปากถ้ำที่มีขนาดมหึมามันคือเส้นแบ่งระหว่างโลกของแสงสว่างและโลกของความมืด หลังจากที่เราเดินผ่านปากถ้ำเข้ามาสักระยะหนึ่งและหันมองกลับไปจะเห็นปากถ้ำมีขนาดเล็กนิดเดียว ยิ่งเดินลึกเข้าไปแสงสว่างยิ่งน้อยลง ๆ ราวกับเป็นเขตสิ้นสุดของมัน ความมืดที่ครอบคลุมอยู่รอบตัว ความกลัวในจิตใจต่างสร้างภาพหลอนไปต่าง ๆ นานา รอบตัวคล้ายมีบางสิ่งคอยจ้องมองอยู่ สัตว์ร้ายที่ซ่อนตัวอยู่ในความมืด มันหัวเราะยินดีราวกับเห็นอาหารอันโอชะและรอเวลาเข้ามากัดกินอย่างหิวกระหาย
ความเวิ้งว้างและความเงียบที่ไร้สรรพเสียงใด ๆ อากาศที่อึดอัดผสมกับกลิ่นเหม็นเอียน ๆ ที่ฉุนจนขึ้นจมูก ทุกอย่างที่ผมสัมผัสมิใช่โลกที่ผมคุ้นเคยมาก่อน ผมรู้สึกว่าที่นี่คงเป็นที่เดียวบนโลกที่ไม่มีกลางวันและกลางคืน มีแต่เพียงความมืดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
นั่นเป็นประสบการณ์การสำรวจถ้ำและความรู้สึกครั้งแรกที่ผมสัมผัสได้ และผมคิดว่าคนอื่น ๆ ที่เข้าถ้ำครั้งแรกคงจะรู้สึกอย่างเดียวกับผม การเดินทางในครั้งนั้นนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงการทำงานในชีวิตของผมจนถึงทุกวันนี้
ชีวิตประจำวันของผมอยู่ในโลก 2 โลกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โลกหนึ่งเป็นโลกปรกติที่คุณสามารถสัมผัสกับมันได้รอบ ๆ ตัว แสงแดดสีทองในยามเช้า ต้นไม้ใบหญ้าที่ดูร่มรื่น อากาศที่มีกลิ่นไอบาง ๆ ของหญ้าแห้งและกลิ่นดินที่หอมชื่นใจเมื่อฝนโปรยปรายลงมา ผู้คนและรถราที่วิ่งกันขวักไขว่เต็มท้องถนน
ส่วนชีวิตในอีกโลกหนึ่งของผมอาจจะอยู่นอกเหนือการรับรู้ของคนทั่วไป สำหรับที่นี่เวลาคล้ายกับจะหยุดนิ่ง ไม่มีกลางวัน กลางคืน วันนี้ก็เหมือนกับเมื่อวาน พรุ่งนี้หรืออีกพันปี หมื่นปีข้างหน้า ถ้ำส่วนใหญ่เป็นโลกที่ปราศจากแสง ต้นไม้ที่ผมเห็นในถ้ำเป็นเพียงเศษซากที่ถูกน้ำพัดมาทับถมและเน่าเปื่อย กลิ่นถ้ำเป็นกลิ่นเย็น ๆ เจือจางด้วยกลิ่นใบไม้เน่าและขี้ค้างคาว มีเพียงความเงียบและสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เท่านั้นที่เป็นเพื่อน
ในวันนี้ความรู้สึกของผมทุกครั้งที่ได้กลับคืนสู่ถ้ำมีความรู้สึกไม่ต่างจากการกลับบ้าน ความมืดและความเงียบทำให้รู้สึกถึงความสงบและอบอุ่นอย่างประหลาด กลิ่นต่าง ๆ ภายในถ้ำกลับกลายเป็นสิ่งที่คุ้นเคย ถ้ำกับผมไม่ใช่เป็นสิ่งแปลกปลอมของกันและกันอีกต่อไป
“ทำไมต้องสำรวจถ้ำ” เป็นคำถามที่มักเกิดขึ้นเสมอในการสนทนากับผู้คน ทุกครั้งที่ผมเล่าและพูดคุยถึงงานสำรวจที่ผมกำลังทำอยู่ให้คนอื่น ๆ ฟัง และหลังจากนั้นจะติดตามมาด้วยคำถามที่ว่า
“นักสำรวจถ้ำคือใคร”
“นักสำรวจถ้ำทำอะไร”
นักสำรวจถ้ำ (Speleologist) คือ ผู้ที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพแต่ชอบในสิ่งเดียวกันคือชอบและรักการสำรวจถ้ำ คนเหล่านี้ไม่ได้ดั้นด้นค้นหาความบันเทิงสนุกสนานเป็นหลักหากแต่พวกเขาทำงานเก็บรายละเอียดของถ้ำต่าง ๆ ทำแผนที่ ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของถ้ำ โครงสร้างทางธรณีวิทยา อุทกวิทยาและนิเวศวิทยาภายในโลกใต้พิภพที่มืดมิดไร้แสงสว่าง ไร้สิ่งนำทาง ใช้ถ้ำเป็นสนามทดลองใต้พื้นพิภพทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของธรรมชาติในอดีตและปัจจุบัน
การทำงานสำรวจถ้ำเปรีบบเสมือนการเปิดพรมแดนการเรียนรู้ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติที่อยู่นอกเหนือจากความเข้าใจของคนเราในอดีต
มันคือโลกที่ซ่อนตัวอยู่เงียบ ๆ ใต้ชั้นหินและพื้นดิน โลกที่มีกฏเกณฑ์เฉพาะตัวที่เอื้อให้กับสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะพิเศษที่สามารถวิวัฒนาการและปรับตัวให้อยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ที่เคร่งครัดและภายใต้การถูกจำกัดโดยธรรมชาติ ปัจจุบันนี้โลกใต้พิภพมิได้อยู่ไกลเกินความรู้และความเข้าใจของคนเราเหมือนในอดีต ทุกวันนี้ถ้ำในทั่วทุกมุมโลกต่างเปิดเผยคุณค่าความสำคัญออกมาโดยนักสำรวจที่ทำงานศึกษาและทำความเข้าใจกับระบบกลไกธรรมชาติที่เปราะบางภายในถ้ำ
สัมผัสคุณค่าที่แท้จริง
ต้นฤดูหนาวปี 2537
หลังจากการสำรวจถ้ำครั้งแรกของผม ผมสะดุดตากับหนังสือสารคดีเล่มหนึ่งหน้าปกเป็นรูปหินย้อยสีขาวมีลักษณะคล้ายผลึกรูปเข็มนับร้อย ๆ อันพุ่งออกมาจากหินย้อย ซึ่งเขียนขึ้นโดย จอห์น สปีส์ งานเขียนอันนั้นนับว่าเป็นแรงบันดาลใจของผม และตั้งความหวังไว้ว่าต้องพาตัวเองไปพบกับเจ้าของงานเขียนนั้น
เป็นโอกาสอันดีที่ผมจะต้องไปสำรวจถ้ำในกิ่ง อ. ปางมะผ้า เพื่อสำรวจเก็บข้อมูลให้กับจังหวัดแม่ฮ่องสอน วันหนึ่งของการสำรวจถ้ำลอดได้มีฝรั่งคนหนึ่งโผล่หน้าเข้ามาในความมืด และนั่งมองดูพวกเราทำงานในถ้ำ เขาดูจะสนใจกล้องรังวัดที่ทำขึ้นเองง่าย ๆ จากไม้อัดและหลอดเล็งที่สร้างขึ้นจากแท่งปากกาลูกลื่นที่พวกเรานำมาด้วยซึ่งเรียกมันว่า “กล้องหัตถกรรมไทย”
เราเจอฝรั่งคนนี้อีกครั้งที่ปากถ้ำลอด แสงสว่างของปากถ้ำทำให้เราทราบว่าเรากำลังพูดคุยอยู่กับ จอห์น สปีส์
6 เดือนที่ผมทำงานที่ปางมะผ้า คือช่วงเวลาที่ผมเก็บเกี่ยวประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับถ้ำอันมีมากมายไม่รู้จักหมดสิ้นจากจอห์น เวลาที่อยู่ที่ปางมะผ้าถูกใช้ไปกับการเข้าสำรวจถ้ำตามคำบอกเล่าและแนะนำของจอห์น เริ่มจากถ้ำที่ง่าย ๆ ไปจนถึงยาก ๆ อย่างถ้ำแม่ละนา บางครั้งผมไปขลุกอยู่ที่หมู่บ้านปางคาม อยู่แถบชายแดนพม่า ใช้เวลาเป็นอาทิตย์เพื่อสำรวจทำให้พบถ้ำใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีการค้นพบและนำข้อมูลที่ได้มาคุยกับจอห์นเมื่อกลับออกมา จากการพบเห็นถ้ำจำนวนมากในปางมะผ้าทั้งถ้ำที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ เสื่อมโทรม การกลับไปดูถ้ำที่สำคัญทุกปีในช่วงฤดูแล้ง ทำให้ผมตระหนักว่าสิ่งที่มีคุณค่าเหล่านี้กำลังเสื่อมโทรมลงอย่างน่าใจหาย จากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่ทราบถึงคุณค่าที่แท้จริง
นอกจากถ้ำจะมีคุณค่าทางการท่องเที่ยวที่เราพบเห็นจนชินตาจนบางครั้งเราแทบจะไม่คิดถึงคุณค่าทางด้านอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่หากเราศึกษาแล้วเรากลับพบคุณค่าของมันมากมาย
ถ้ำเป็นแหล่งค้นคว้าที่สำคัญของศาสตร์ต่าง ๆ เช่น ทางโบราณคดี ในวัฒนธรรมดั้งเดิมของมนุษย์ในสมัยโบราณ ถ้ำเป็นที่อยู่อาศัยและที่หลบภัยอย่างดี เราจะพบหลักฐานทางโบราณคดี เช่น เครื่องมือหินกะเทาะ เครื่องมือหินขัด ภาชนะดิน เครื่องมือโลหะ เครื่องประดับ กระดูกมนุษย์ เมล็ดพืช ฯลฯ หลักฐานต่าง ๆ ที่อยู่ในถ้ำเหล่านี้จะสามารถบ่งบอกถึงความเป็นมาของคนโบราณในดินแดนแหลมทองและความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมภูมิปัญญาของบรรพชนในอดีตได้
หินงอกหินย้อยในถ้ำที่นักท่องเที่ยวสนใจที่จะชื่นชมความงาม กลับเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถบ่งบอกถึงการเปลี่ยงแปลงของบรรยากาศของโลกในอดีตย้อนหลังไปนับเป็นหมื่น ๆ ปี โดยอาศัยเทคนิคการหาอายุโดยใช้คาร์บอน-14 ไม่เพียงแต่หินงอกหินย้อยเท่านั้นแม้แต่ตะกอนบางอย่างภายในถ้ำก็ยังสามารถประมาณอายุของถ้ำและปรากฏการณ์ของสิ่งแวดล้อมในอดีตได้ ดังเช่น ถ้ำผาไท จังหวัดลำปาง พวกเราได้พบตะกอนบนพื้นถ้ำ สิ่งที่น่าสนใจก็คือชั้นตะกอนที่เราพบเป็นซากเถ้าถ่านของภูเขาไฟที่ได้ระเบิดเมื่อประมาณ 9.3 ล้านปีที่แล้ว นั่นก็หมายความว่า ถ้ำผาไทจะมีอายุมากกว่านั้น และมีการระเบิดของภูเขาไฟในพื้นที่ใกล้เคียง
การศึกษาความสัมพันธ์ด้านระบบนิเวศในถ้ำเพื่ออนุรักษ์สิ่งมีชีวิตชนิดพิเศษที่หายากมีความสำคัญเช่นกัน ระบบนิเวศในถ้ำแตกต่างออกไปจากระบบนิเวศภายนอก เนื่องจากในห่วงโซ่อาหารภายนอกเริ่มต้นจากพืชที่สร้างอาหารจากการสังเคราะห์แสง แต่ภายในถ้ำห่วงโซ่อาหารเริ่มจากขี้ค้างคาว และซากพืชซากสัตว์ที่ถูกน้ำพัดพาเข้ามาถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรียและเชื้อราบางชนิดสิ่งเหล่านี้จะเป็นอาหารให้กับแมลงตัวเล็ก ๆ ที่อยู่ในดิน แมลงเหล่านี้ก็จะเป็นอาหารให้กับแมลงใหญ่ชนิดอื่น ๆ พวกมันจะมีการกินต่อกันเป็นทอด ๆ จำนวนประชากรของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะถูกจำกัดโดยอาหาร และสภาพแวดล้อม ประกอบกับสภาพแวดล้อมภายในถ้ำเป็นสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างอยู่นิ่งและคงที่ ยิ่งเข้าไปลึกสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงน้อย เช่น อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ฯลฯ ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นปัจจัยจำกัดทำให้ระบบนิเวศภายในถ้ำเป็นระบบที่เฉพาะ สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่หลงเข้าไปจะค่อย ๆ วิวัฒนาการและปรับตัวให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมได้ ส่วนที่ไม่สามารถปรับตัวได้หรือไม่สามารถแข่งขันกับชนิดอื่น ๆได้จะตายลง สิ่งมีชีวิตเหล่านี้หากมีการหลงออกมาภายนอกหากโชคดีสามารถปรับตัวเข้ากับระบบนิเวศภายนอกได้จะเป็นการทดแทนหรือเพิ่มความหลากหลายของสายพันธุ์ตามธรรมชาติ และความหลากหลายในระบบนิเวศ
การศึกษา สำรวจ จดบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ภายในถ้ำเป็นสิ่งที่สามารถใช้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของถ้ำได้ เพราะนอกจากการสำรวจทำแผนที่ถ้ำทุกครั้งจะต้องมีการถ่ายภาพ บันทึกข้อมูลอากาศ ฯลฯ สามารถใช้เปรียบเทียบติดตามผลการเปิดใช้ถ้ำได้อย่างดีที่สุด ถ้ำแต่ละถ้ำมีลักษณะโดดเด่นและความสำคัญไม่เหมือนกันซึ่งจะส่งผลให้การตัดสินใจใช้ถ้ำต่างออกไปด้วย ถ้ำที่มีสิ่งมีชีวิตชนิดพิเศษถ้าหากมีอยู่เพียงไม่กี่ถ้ำและมีจำนวนประชากรอยู่น้อย ย่อมเป็นอันตรายอย่างมากหากถูกบุกรุกโดยการท่องเที่ยว
การสำรวจจะช่วยในการตัดสินใจว่าจะนำถ้ำนี้ออกมาใช้เพื่อการท่องเที่ยวหรือจะเก็บถ้ำนี้เอาไว้เพื่องานการศึกษาวิจัยเท่านั้น
การสำรวจ : บทเริ่มต้นของการวิจัย
ฤดูร้อนปี 2542
วันที่สองของการทำงานในสัปดาห์ที่ 3 ของการสำรวจถ้ำในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร พวกเราตัดสินใจตั้งแคมป์อยู่กลางป่าเพื่อเดินทางเข้าสำรวจบริเวณผาฟ้าซึ่งเป็นภูเขาหินปูนที่เห็นตั้งตระหง่านอยู่กลางพื้นที่ คณะสำรวจประกอบด้วย ดีน สมาร์ท หัวหน้าทีมสำรวจถ้ำ ผู้เชื่ยวชาญจากประเทศอังกฤษ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ นักสำรวจจากโครงการ ตามแผนการที่กำหนดขึ้นคร่าว ๆ พวกเราจะตั้งแคมป์สำรวจบริเวณผาฟ้าเป็นเวลา 8 วัน พื้นที่ตั้งแคมป์ที่พวกเราเลือกไม่ไกลจากทางสายหลักที่ใช้ในการส่งกำลังบำรุงและง่ายต่อการส่งเสบียงหรือขอความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน
จากแผนที่ธรณีวิทยาและแผนที่ภูมิประเทศ ทุ่งใหญ่นเรศวรฯคือภูมิประเทศคาร์สต(Karst)ขนาดใหญ่อยู่ในภาคตะวันตกของประเทศไทยครอบคลุมจังหวัดตากและกาญจนบุรี พื้นที่นี้ยังไม่เคยมีคณะสำรวจใดเคยเข้าสำรวจมาก่อน ในแผนที่ภูมิประเทศ 1 : 50,000 ของกรมแผนที่ทหาร พื้นที่นี้ปรากฏแอ่งยุบ (Doline) กระจายอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการเข้าสำรวจย่อมมีโอกาสพบถ้ำเป็นจำนวนมาก พวกเราเลือกที่จะเข้าสำรวจหลุมยุบที่มีพื้นที่ใหญ่และลึกเป็นอันดับแรก เพราะมั่นใจว่าน้ำทั้งหมดที่อยู่ในลุ่มน้ำจะไหลลงไปรวมกันและมุดหายลงไปใต้ดิน ถ้าโชคดีอาจพบถ้ำที่มีขนาดใหญ่และยาวทะลุไปออกอีกฟากเขาได้
การค้นหาถ้ำที่ใหญ่และยาวมาก ๆ มีความหมายต่อพวกเราเนื่องจากว่าถ้ำเหล่านี้ มีสภาพแวดล้อมที่สามารถเอื้อให้เกิดสิ่งมีชีวิตชนิดพิเศษ หรือสิ่งมีชีวิตที่เป็นชนิดพันธ์ใหม่ ๆ เพราะยิ่งลึกเข้าไปในถ้ำมาก ๆ สภาพแวดล้อมภายในจะมีการเปลี่ยนแปลงน้อย ไม่มีแสงสว่างและที่สำคัญคือโอกาสที่สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นจะหลงทางวนเวียนอยู่ในความมืดจนปรับตัว วิวัฒนาการ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจนกลายเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดพิเศษย่อมมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
อุปสรรคในการทำงานอย่างแรกสุดที่เราเผชิญอยู่ก็คือ การค้นหาปากถ้ำ เพราะบางพื้นที่ยังไม่เคยมีเจ้าหน้าที่เคยเดินสำรวจมาก่อน ทุกอย่างจะต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด แหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่สามารถใช้ได้ก็คือแผนที่ภูมิประเทศ ทุก ๆ แห่งที่เราคาดว่าน่าจะมีถ้ำได้ถูกกำหนดขึ้น ที่เหลือก็คือการเดินสำรวจเพื่อตรวจสอบพื้นที่ตามสมมุติฐานที่พวกเราตั้งขึ้นมา การเดินทางจึงจำเป็นต้องใช้แผนที่ภูมิประเทศกับเครื่องหาตำแหน่งโดยใช้ดาวเทียม(GPS)เป็นหลัก เพื่อตรวจสอบตำแหน่งและทิศทางการเดินไม่ให้ออกนอกเส้นทางที่วางเอาไว้
อุปสรรคอย่างที่สองก็คือความรกทึบของป่า พื้นที่บางส่วนเป็นหมู่บ้านและไร่เก่าของม้งที่อพยพออกไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในปัจจุบันสภาพป่ากำลังเริ่มฟื้นตัว ภายในทุ่งหญ้ามีลูกไม้เริ่มขึ้น ป่าบางช่วงเป็นป่าเบญจพรรณ และป่าดิบ หลายครั้งเราจะต้องใช้การเปิดเส้นทางใหม่หรืออาศัยเส้นทางสัตว์อย่างเช่น ช้างหรือกระทิงทำให้เดินสะดวกขึ้น
สองชั่วโมงแรกของการเดินพวกเราไปได้เพียงแค่ 2-3 กิโลเมตรเท่านั้นจุดพักแรกดุจากแผนที่จะอยู่บนสันเขาด้านหน้าห่างไม่ถึง 1 กิโลเมตรเป็นจุดสูงที่สุดของหลุมยุบ หลังจากนั้นเราจะตัดลงหุบเขาเพื่อเดินตามทางน้ำหลักเพื่อหาน้ำมุดในหุบเขา
หลังจากที่พักกันจนหายเหนื่อยแล้ว พวกเราเริ่มออกเดินตัดลงหุบเขา มีดที่อยู่ข้างเอวของแต่ละคนถูกนำออกมาใช้เปิดเส้นทาง ทางลงค่อนข้างชันพวกเราต้องระมัดระวังไม่ได้ลื่นไถลลงไปกองรวมกันอยู่ด้านล่าง หลังจากตัดเส้นทางลงมาได้ไม่นานพวกเราพบด่านช้าง แน่นอนที่สุดทางเดินของช้างย่อมพาเราลงไปหาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ พวกเราเดินลัดเลาะตามด่านช้างลงไปเรื่อย ๆ จนพบน้ำซับที่ผุดออกมาจากใต้ดิน เดินตามทางน้ำไปปริมาณน้ำมากขึ้นเรื่อย ๆ ผ่านห้วยแยกหลายที่แต่ก็ยังคงรักษาเส้นทางตามทางน้ำสายหลัก ประมาณ 1 กิโลเมตรเราพบสิ่งที่ค้นหา เป็นจุดสุดท้ายที่ลำห้วยทั้งสายไหลมุดลงใต้ดินบริเวณหน้าผาใหญ่พอดี แต่ช่องทางที่น้ำมุดมีขนาดแคบมาก กว่า 20 นาทีของความพยายามหาวิธีเข้าไปแต่ก็ไม่สัมฤทธิ์ผล
“เมื่อก่อนตอนที่ระดับน้ำใต้ดินอยู่สูงกว่านี้ อาจจะมีช่องน้ำมุดอื่นที่อยู่ด้านบน พวกเราต้องแยกกันค้นหา“ ดีนเสนอความคิดขึ้นมา
ห่างจากจุดที่น้ำมุด 20 เมตรด้านซ้าย เราพบช่องน้ำมุดเก่าที่ต่อเชื่อมกับถ้ำด้านล่าง ทางลงเป็นเหวลึก 3-4 เมตรแต่ก็พอที่จะปีนลงไปสำรวจได้ คณะสำรวจใช้เวลาเตรียมอุปกรณ์ไม่นาน ทีมถูกแบ่งออกเป็น 2 ชุด ชุดหนึ่งทำการสำรวจโถงถ้ำที่พบ อีกชุดเดินสำรวจตามหน้าผาเพื่อดูถ้ำแห้งหรือจุดน้ำมุดอื่นๆ เพราะจากการประเมินคร่าว ๆ บริเวณมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์และพื้นที่ใกล้เคียงมีความลาดชันไม่มากสามารถทำการเกษตรได้ ถ้าโชคดีเราอาจพบหลักฐานทางโบราณคดีในถ้ำอื่นบริเวณนี้
ดีน ผู้ที่มีประสบการณ์การสำรวจถ้ำมากที่สุดในทีมเป็นคนนำเพราะเขาสงสัยว่าภายในถ้ำอาจจะมีอากาศไม่ดีหรือหมายถึงอาจจะมีจุดอับอากาศ ที่มีก๊าซออกซิเจนอยู่น้อยมากจนอาจจะทำให้เกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อทีมสำรวจได้ ตามปรกติแล้วในถ้ำที่ยากและอันตรายเราจะให้คนที่มีประสบการณ์มากที่สุดเป็นคนนำ แต่ก็จะยกเว้นในบางกรณีถ้าทีมต้องการความสามารถพิเศษของสมาชิกคนใดคนหนึ่งในทีมในการนำสำรวจก็สามารถเปลี่ยนให้คนที่พร้อมที่สุดเป็นหัวหน้าทีมได้
หมวกนิรภัย สนับเข่าและสนับศอกถูกขยับให้กระชับกับร่างกายพร้อมสำหรับการปีนลงไป เมื่อพวกเราลงไปถึงด้านล่างไฟฉายและตะเกียงแคลเซียมคาร์ไบด์ที่ศีรษะถูกจุดขึ้นเพื่อขับไล่ความมืด ดีนจุดไฟแช็คในมือเพื่อเช็คอากาศ “ไม่มีปัญหาออกซิเจนมีพอที่จะหายใจ” ผมนึกในใจ พวกเรายังคงรู้สึกได้ถึงความอึดอัดเมื่อหายใจในสภาพอากาศที่มีสัดส่วนของออกซิเจนที่ต่ำกว่าปรกติ แต่ดูเหมือนยิ่งเดินลึกเข้าไปพวกเรารู้สึกอึดอัดมากขึ้น พร้อม ๆ กับเส้นทางยิ่งแคบและลึกลงไปเรื่อย ๆ เครื่องวัดระดับคาร์บอนไดออกไซด์บอกค่าสัดส่วนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศที่ระดับ 1.9 เปอร์เซ็นต์ แต่ไฟแช็คในมือบอกว่ายังสามารถเข้าไปต่อได้ โถงถ้ำตอนนี้ยิ่งแคบเข้ามาไม่ถึง 1 เมตรด้านหน้าคือแอ่งน้ำมีความกว้างประมาณ 1-1.5 เมตรน้ำทั้งหมดจะมุดลอดเข้าไปในโพรงใต้ดิน นั่นหมายความว่าต่อจากนี้ไปเราไม่สามารถเข้าสำรวจได้อีก
อุปกรณ์สำรวจต่าง ๆ ถูกนำออกมาเพื่อใช้ทำแผนที่กลับออกไปยังปากถ้ำ การสำรวจจะต้องใช้คนอย่างน้อย 4 คน หนึ่งคนสำหรับการจดบันทึกข้อมูล หนึ่งคนสำหรับอ่านเข็มทิศและเครื่องวัดมุมดิ่ง สองคนสำหรับทำหมุดสำรวจและวัดระยะทาง
พวกเราทำการสำรวจโดยวาดแผนที่ถ้ำคร่าว ๆ กลับออกมาโดยใช้เข็มทิศ เทปวัดระยะ และเครื่องวัดมุมดิ่งเพื่อนำข้อมูลที่ได้นำเข้าคอมพิวเตอร์เพื่อคำนวน ปรับแก้ความคลาดเคลื่อนและวาดภาพแผนผังของโถงถ้ำ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นทีมสำรวจที่สองได้ทำการสำรวจพื้นที่ในบริเวณใกล้เคียงได้พบโถงถ้ำบริเวณหน้าผา ภายในถ้ำพบภาชนะดินเผาขึ้นรูปด้วยมือในสภาพสมบูรณ์ 1 ใบและเศษหม้อดินที่แตกอยู่บนพื้นถ้ำ พวกเราทำการจดบันทึกถ่ายภาพและวัดขนาดเพื่อทำหลักฐานไว้ก่อนกลับแคมป็ใหญ่
หลังจากที่พวกเราสาละวนกับการหุงหาอาหารและรับประทานอาหารเย็นแล้ว ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจวันนี้จะนำมาสรุปตรวจสอบ และนำเข้าคอมพิวเตอร์เพื่อวาดแผนที่ถ้ำคร่าว ๆ เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากการสำรวจเผื่อมีบางอย่างผิดพลาด ในวันรุ่งขึ้นจะได้กลับไปเก็บข้อมูลแก้ไขให้ถูกต้อง
ประสบการณ์ : หัวใจของการเอาตัวรอด ความรู้ที่ไม่มีบันทึกในตำรา
ยิ่งดึกอากาศก็ยิ่งเย็น ทั้งที่ช่วงนี้เป็นเดือนเมษายน อากาศที่เย็นเยียบไล่คณะสำรวจหลายคนลงจากเปลลงมาผิงไฟเพื่อขับไล่ความหนาวที่เข้าไปถึงกระดูก
กองไฟถูกเร่งฟืน เพื่อให้มีความร้อนพอให้ความอบอุ่นกับทุกคน เสียงเก้งร้องอยู่ไม่ไกลจากแค้มป์คงลงกินโป่งที่ใดที่หนึ่งไม่ไกลจากนี่ เวลาดึกสงัดเอย่างนี้ราสามารถได้ยินเสียงต่างๆ ในธรรมชาติได้อย่างชัดเจนบางครั้งจะได้ยินเสียงที่แว่วมาตามลมที่เราไม่รู้จักและไม่เคยได้ยินมาก่อน เสียงร้องที่เย็นเยียบเข้าไปถึงขั้วหัวใจ สร้างความหวาดกลัวให้กับคนที่ขวัญอ่อนได้เหมือนกัน ไม่นานนักบรรยากาศก็นำพาเรื่องราวต่าง ๆ เข้ามาสู่วงสนทนารอบกองไฟ
“ถ้ำที่พวกเราไปพบในวันนี้ที่มีแอ่งน้ำอยู่ข้างใน มันไปสุดอยู่แค่นั้นหรือครับหรือสามารถไปต่อได้” อ๊อดดี้นักศึกษาฝึกงานถามขึ้น
“ไม่หรอกผมคิดว่าโถงถ้ำจะต้องไปต่อได้แต่พวกเราอาจผ่านช่วงนั้นไปไม่ได้ ต้องมีเวลาในการสำรวจและอุปกรณ์มากกว่านี้” ผมตอบ
“ถ้ำที่เราพบหลาย ๆ ที่จะเป็นอย่างนี้ เมื่อเข้าไปสำรวจก็จะไปสุดที่แอ่งน้ำ ( Sump) เพราะว่าถ้ำส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมที่ต่ำกว่าระดับน้ำใต้ดิน (Water Table) ภายในชั้นของหินปูนมีรอยแตกเป็นจำนวนมาก (Joint) น้ำที่รวมตัวกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะกลายเป็นกรดอ่อน ๆ สามารถละลายหินปูนได้ดี ช่วงที่มีน้ำเต็มโพรงถ้ำหินปูนปริเวณที่มีพื้นที่ผิวสัมผัสกับน้ำจะถูกละลายจนกลายเป็นโพรงกลมค่อย ๆ ขยายออกทุกทิศทุกทาง เราเรียกถ้ำที่เกิดขึ้นใต้ระดับน้ำใต้ดินว่า “Phreactic cave” ต่อมาภายหลังระดับน้ำใต้ดินลดระดับลงทำให้ภายในโพรงมีอากาศและน้ำอยู่ภายในเราเรียกว่า “Vados Cave” ระดับน้ำในถ้ำจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดปี หากเกิดการไหลกัดเซาะบริเวณพื้นและผนังถ้ำ ทำให้ระดับพื้นถ้ำลดระดับลงมาเรื่อย ๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำใต้ดินรูปร่างของถ้ำจึงมีการพัฒนารูปแบบตามอัตราการกัดเซาะและการละลายร่วมกัน เกิดเป็นโพรงถ้ำที่มีรูปร่างเหมือนรูกุญแจ (Key Hole)“ ดีนอธิบายให้ฟังเพิ่มเติม ทุกคนนั่งฟังอย่างสนใจ
“เป็นการสำรวจต่อจากคณะสำรวจนานาชาติโดยการนำของกรมป่าไม้เมื่อเดือนเมษายน 2540 ซึ่งมีพี่นพรัตน์ นาคสถิตย์ เป็นหัวหน้าทีมในการสำรวจ ครั้งแรกไม่มีใครเคยนึกว่าถ้ำที่มีความยาวเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทยจะอยู่ที่นี่” ผมพูดขึ้นต่อเพราะกลัวดีนจำไม่ได้
“ใช่ ๆ ผมจำได้ ในการสำรวจครั้งแรกเราใช้ข้อมูลจากแผนที่ธรณีวิทยาบอกให้เรารู้ว่าพื้นที่ทางตะวันออกของทุ่งแสลงหลวงมีภูเขาหินปูนในยุคเพอร์เมียนกระจายอยู่ในพื้นที่ไม่มากนัก จากการสำรวจครั้งนั้นพบถ้ำขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วไปมีความยาวไม่ถึง 1 กิโลเมตร จนกระทั่งการสำรวจ 2 วันสุดท้ายคณะสำรวจได้ย้ายพื้นที่ไปบริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าที่อยู่ทางเหนือของพื้นที่ไม่มีใครเคยล่วงรู้มาก่อนว่าถ้ำที่สำคัญที่สุดในประเทศไทยจะอยู่ที่นี่ “
“จากครั้งแรกที่เห็นผมคิดว่าถ้ำนี้มีความยาวไม่เกิน 500 เมตรหรือ 1000 เมตรเท่านั้นเพราะโถงน้ำใหญ่ซ่อนตัวอยู่ด้านล่างโถงหินถล่มที่พวกเรายืนอยู่ เมื่อทำการสำรวจพบว่าด้านล่างโถงถ้ำกว้างมากและยิ่งลึกเข้าไปเรื่อย ๆ ตามทางน้ำสายหลัก การสำรวจในปีแรกคณะสำรวจทำการสำรวจได้ระยะทางรวม 6,315.43 เมตรและลึกลงไปใต้ชั้นหิน 58.54 เมตร เนื่องจากคณะสำรวจไม่มีเวลาพอจึงยุติการสำรวจไว้เพียงแค่นั้น” ดีนพยายามนึกถึงการสำรวจเมื่อ 2 ปีที่แล้ว
“แล้วตอนนี้ถ้ำนั้นสำรวจเสร็จหรือยังครับ” แซก นักศึกษาฝึกงานอีกคนถามอย่างสนใจ
“ถ้ำส่วนใหญ่ในโลกยังสำรวจไม่เสร็จหรอก นักสำรวจยังพบเส้นทางเชื่อมต่อกับเส้นทางอื่น ๆ ตลอดต้องใช้เวลาสำรวจและศึกษาหลายปี ถ้ำนี้ก็เหมือนกัน” ดีนอธิบายให้ฟัง
“เราทำการสำรวจเพิ่มเติมอีกครั้งในปีถัดมา ดีนกับผมได้เข้าทำการสำรวจต่อใช้เวลาประมาณ 5 วันเข้าไปจนสุดถ้ำบริเวณที่เป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ปลายถ้ำและมีน้ำผุดขึ้นมา จากการสำรวจครั้งนี้ทำให้รู้ว่าถ้ำมีความยาวทั้งสิ้น 12.10 กิโลเมตรแต่พวกเราคิดว่ายังสำรวจไม่หมดเพราะยังคงมีทางแยกอื่น ๆ อีกที่ไม่มีเวลาเข้าไปดู รวมทั้งหลืบบนเพดานด้านบนด้วย”
“ตอนนั้นเราตื่นเต้นกันมากเพราะว่าหลังจากการสำรวจครั้งแรกเรารู้ว่าถ้ำนี้จัดอยู่ในอันดับที่ 1 ถึง 5 ของถ้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทย เมื่อการสำรวจสิ้นสุดในแต่ละวันข้อมูลจะถูกนำเข้าคอมพิวเตอร์เพื่อคำนวนและวาดแผนที่ถ้ำ ช่วงเข้ากิโลเมตรที่ 8 พวกเราลุ้นกันว่าถ้ำจะขึ้นอันดับที่สองของประเทศได้หรือเปล่าเพราะอันดับสองในตอนนั้นคือถ้ำน้ำลางซึ่งมีความยาว 8 กิโลเมตรกว่าแต่ในที่สุดถ้ำแห่งนี้ก็ขึ้นอันดับที่สองจนได้ ถ้ำนี้แพ้แม่ละนาไปเพียง 500 เมตรเท่านั้น แต่ถ้านับรวมความยาวเฉพาะตามโถงทางน้ำหลัก ถ้ำนี้ยาวเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทย” ดีนเล่าความรู้สึกด้วยดวงตาที่เป็นประกาย เหมือนเพิ่งผ่านมาเมื่อวาน
“สิ่งหนึ่งที่สร้างความประหลาดใจให้กับพวกเราคือโถงถ้ำที่พวกเรากำลังสำรวจมีรูปลักษณะเป็นทางน้ำโค้งตะหวัด(Meander) ที่เราจะสามารถพบเห็นได้ตามที่ราบน้ำท่วมถึงของแม่น้ำสายใหญ่ ๆ เท่านั้น นั่นเป็นสิ่งยืนยันว่าถ้ำมีการพัฒนาที่ยาวนานจากการที่มีทางน้ำขนาดใหญ่ไหลผ่านมาก่อน ความเร็ว ความแรงและการกัดเซาะของน้ำทำให้เกิดโถงถ้ำดังที่เราพบในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังพบสิ่งมีชีวิตในถ้ำที่เป็นชนิดพันธ์ใหม่หลายชนิด ” ดีนเล่าให้ฟังต่อ
“ถ้ำยาวมาก ๆ ขนาดนั้นแล้วเข้าไปสำรวจกันยังไงครับ” เจ้าหน้าที่ที่นั่งฟังถามขึ้นมาด้วยความสงสัย
“ไม่เดินกันแย่หรือครับกว่าจะเดินเข้าไปและกลับออกมาไม่ต่ำกว่า 15 กิโลเมตรเชียวนะครับ” แซกถามขึ้นมาบ้าง
“ใช่เราเข้าใจถูกแล้วละ การสำรวจในแต่ละวันจะเสียเวลาอย่างน้อยวันละ 2-3 ชั่วโมงก่อนการสำรวจต่อจากเดิม ทำให้เราสำรวจในแต่ละวันได้เพียงวันละ 1 กิโลเมตรเท่านั้น การทำงานจะเริ่มตั้งแต่ 8.00 นและออกจากถ้ำประมาณ 20.00 น. พวกเราจึงตัดสินใจเข้าไปตั้งแคมป์สำรวจในถ้ำช่วงกิโลเมตรที่ 8-9 เพื่อตัดปัญหาการเสียเวลาจากการเดินทางเข้าออก อุปกรณ์การสำรวจ เครื่องนอนสัมภาระและเสบียงทุกอย่างถูกจัดเข้าถุงกันน้ำให้พร้อมกับการว่ายฝ่ากระแสน้ำเข้าไป” ผมอธิบายให้ฟัง
“คุณรู้หรือเปล่าการนอนในถ้ำครั้งนั้นเป็นการนอนในถ้ำครั้งแรกในชีวิตของผมเลย ทุก ๆ อย่างรอบตัวเงียบจนได้ยินเสียงลมหายใจ ความมืดที่เราอยู่เมื่อดับไฟฉายขนาดที่คุณลองเอามือมาไว้ตรงหน้าคุณจะมองไม่เห็นอะไร มันเป็นความมืดที่คุณไม่สามารถอธิบายได้ ครั้งนั้นผมรู้สึกว่าชีวิตเรียบง่ายมาก ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่โดยเราแค่เป็นส่วนเล็ก ๆ ของถ้ำนี้ สิทธิของคนคนหนึ่งเทียบเท่ากับปลาถ้ำหรือแมลงที่อยู่บนผนังถ้ำตัวหนึ่งเท่านั้นเอง” ผมพยายามอธิบายความรู้สึกและประสบการณ์ที่ผมได้รับให้เพื่อนร่วมทีมฟัง
“ผมก็ยังไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการนอนในถ้ำและการเดินถ้ำที่ลึก ๆ เลย” เจ้าหน้าที่บางคนในทีมพูดขึ้นมาบ้าง
“ไม่ต้องห่วงหรอก จากประสบการณ์ของผมคิดว่าในทุ่งใหญ่ฯ เราจะต้องพบถ้ำที่ยาว ๆ มาก ๆ แต่ตอนนี้เรายังหาทางเข้าไม่พบเท่านั้นเอง” ดีนพูดเสริมขึ้นมา
“ดีน คุณมีประสบการณ์การสำรวจถ้ำมานานไหม ?” เจ้าหน้าที่คนหนึ่งถามขึ้น
“ผมสำรวจถ้ำมา 19 ปีแล้วเริ่มตั้งแต่ผมอายุ 13 ปีตั้งแต่ผมเป็นสมาชิกของชมรมถ้ำในเมืองที่ผมอยู่ที่อังกฤษ และก็สำรวจมาตลอด”
“ 19 ปี โอ้โฮ ! ผมเพิ่งเริ่มไม่ถึงปีเลย แล้วคุณล่ะ”เจ้าหน้าที่หันมาถามทางผม
“ผมสำรวจมาเกือบ 7 ปีแล้ว” ผมตอบ
“ช่วง 5-7 ปีที่แล้วเมืองไทยมีการสำรวจถ้ำอย่างนี้ด้วยหรือครับ” อ๊อดถามขึ้นอย่างสงสัย
“มีสิแต่ช่วงนั้นเรื่องถ้ำยังไม่ค่อยเป็นที่สนใจเท่าไหร่ การสำรวจก็ยังไม่ค่อยเป็นมาตราฐานและเป็นระบบเท่าไหร่ ช่วงที่ผมกำลังเรียนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ผมมีโอกาสช่วยงานอาจารย์ในภาควิชาภูมิศาสตร์ ถ้ำที่ผมสำรวจถ้ำแรกคือ ถ้ำลอดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อจัดทำแผนการอนุรักษ์ ตอนนั้นผมยังไม่รู้จักอุปกรณ์การสำรวจอย่างนี้หรอก กล้องสำรวจแบบง่าย ๆ ที่ทำด้วยไม้ซึ่งถูกทำขึ้นโดยรุ่นพี่ในภาควิชาโดยใช้หลักการของกล้องธีโอโดไลท์ซึ่งเป็นกล้องสำรวจทางวิศวกรรมมาดัดแปลง หลังจากงานนั้นผมก็ได้รับหน้าที่การสำรวจทำแผนที่ถ้ำอื่น ๆ เช่น ถ้ำหลวงนางนอน ฯลฯ อุปกรณ์อื่น ๆ ที่พวกเราใช้เข้าถ้ำใช้เพียงไฟฉายติดศีรษะคนละ 1 อัน รองเท้าผ้าใบ เทปวัดระยะ กล้องสำรวจที่ทำจากไม้ และตะเกียงเจ้าพายุเท่านั้น ผมไม่รู้จักกฏเกณฑ์ของนักสำรวจถ้ำ มีความรู้เพียงแค่ถ้ำเกิดขึ้นได้อย่างไร หินงอกหินย้อยไม่กี่ชนิดตามตำราและเอกสารที่สามารถหาได้ในขณะนั้นซึ่งมีน้อยมาก คงเป็นโชคดีของผมที่ถ้ำที่พวกเราสำรวจเป็นถ้ำท่องเที่ยวที่มีคนนำทางมีความยาวไม่มากและไม่ยากเกินไปนักจึงกลับออกมาได้อย่างปลอดภัย
หลังจากนั้นอีก 2 ปี ผมได้มีโอกาสกลับมาสำรวจถ้ำในกิ่งอำเภอ.ปางมะผ้าอีกครั้งทำให้ผมรู้จักกับ จอห์น สปีส์ และครั้งนั้นเป็นการพบกันครั้งแรกของผมกับดีนด้วย แต่ผมก็ไม่ค่อยได้คุยกับดีนเท่าไหร่ เพราะดีนพูดภาษาไทยไม่ได้“
“และพี่ก็พูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยแข็งแรง” แซกพูดแทรกขึ้นมาทันที
“น้องพวกนี้ชอบดักคออยู่เรื่อย ๆเลย แต่ตอนนี้ค่อยแข็งแรงขึ้นมานิดนึงแล้ว” ผมแก้ตัวและเล่าความทรงจำเก่า ๆ ให้ฟังต่อ
“ผมคิดว่าผมโชคดีมากที่ได้มารู้จักกับคนที่เก่งเรื่องถ้ำในประเทศไทยทั้ง 2 คน ถ้าจะเปรียบ จอห์น เป็นครูคนแรกที่ให้ประสบการณ์การสำรวจถ้ำกับผม ดีนก็เหมือนกับเป็นครูคนที่สองและเพื่อนสนิทที่รักการสำรวจถ้ำเหมือนกัน สำหรับดีนเรามาพบกันอีกครั้งที่กรุงเทพฯขณะที่เขาเป็นอาสาสมัครทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องถ้ำให้กับกรมป่าไม้ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเราไปสำรวจด้วยกันหลายแห่งทำให้ผมเรียนรู้เรื่องถ้ำอย่างเป็นระบบ ประสบการณ์ในการทำงานสำรวจถ้ำมีมากขึ้นเรื่อย ๆ “
“ครั้งแรกที่ผมเจอคุณ และรู้ว่าคุณสนใจเข้าถ้ำแม่ละนา สิ่งแรกที่ผมคิดคืออะไรรู้หรือเปล่า” ดีนถามขึ้นมา
“คุณคงแปลกใจและกลัวว่าผมจะเป็นอันตรายใช่ไหม คงเหมือนกับที่ผมรู้สึกอยู่ตอนนี้กับผู้ร่วมทีมคนอื่น ๆ ” ผมตอบ
“ใช่คุณเข้าใจถูกแล้ว นักสำรวจถ้ำที่มีประสบการณ์ทุกคนรู้ดีว่า ในการสำรวจถ้ำใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีคนเหยียบย่างเข้าไปนั้นอันตรายมาก ประสบการณ์จะเป็นสิ่งที่ทำให้นักสำรวจถ้ำรับรู้ถึงอันตรายนั้น ๆ ถ้ำแม่ละนาเป็นถ้ำที่อันตราย บางช่วงเส้นทางซับซ้อนและต้องว่ายน้ำ ถ้าได้คนที่มีประสบการณ์นำทางจะไม่มีปัญหาแต่สำหรับคุณช่วงนั้นคุณยังไม่รู้จักถ้ำดีพอ การสำรวจหรือเข้าไปเที่ยวก็ตาม มีโอกาสเกิดอันตรายได้ง่ายมาก” ดีนพูดขึ้นอย่างเป็นห่วง
thank you
ตอบลบชอบมากเลยค่ะ ต้องมีกลุ่มอย่างพวกคุณนี่แหละ เราถึงได้ดูในสิ่ง ที่พวกเราไปไม่ถึง ขอบคุณมากที่มีสิ่งดีๆ ให้ดู
ตอบลบพี่เรียนจบคณะอะไรมาครับ ผมอยากทำงานแบบพวกพี่อ่ะครับ แนะแนวหน่อย ขอบคุณครับ
ตอบลบถ้ำที่ซ้อนกันหลายๆชั้นเกิดขึ้นได้อย่างไรครับ
ตอบลบพี่เคยเที่ยวเขาลูกเดียวแต่เจอถ้ำถึง 10 ลูกมั้ยครับ
ตอบลบ