Explorer one Team

บริษัท เอ็กซ์พลอเรอร์วัน จำกัด ก่อตั้งโดย อนุกูล สอนเอก นักสำรวจวิจัยทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมปีนเขาเอเวอร์เรสต์ปี 2007 ตั้งขึ้นมาจากประสบการณ์ทำงานและประสบการณ์ผจญภัยที่หลากหลาย พวกเราพร้อมนำท่านเข้าสู่โลกผจญภัย กิจกรรมกลางแจ้งและการสำรวจทางธรรมชาติวิทยา Explorer One Team คือแหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญด้านสำรวจถ้ำ ปีนหน้าผา การพายคยัคล่องแก่ง การใช้ชีวิตในป่ารวมไปถึงการสำรวจทางภูมิศาสตร์ การใช้แผนที่และเ็ข็มทิศ อีกทั้งยังดำเนินงานให้การอบรมในศูนย์ฝึกทักษะการผจญภัยแขนงต่าง ๆ รวมไปถึงการกู้ภัยพิเศษประเภทต่าง ๆอาทิการกู้ภัยทางน้ำ หน้าผาสูง ในถ้ำ หรือแม้แต่การร่วมปฏิบัติงานกู้ภัยในป่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความชำนาญกว่า 18 ปีบนเส้นทางสายนี้

14/5/54

นักสำรวจถ้ำ 2

ประสบการณ์ : ความรู้ที่ไม่มีในตำรา

 สำหรับนักสำรวจถ้ำพวกเราทุกคนรู้ว่าอันตรายนั้นอยู่รอบตัว  สิ่งที่อันตรายที่สุดก็คือ  อากาศที่มีเปอร์เซ็นคาร์บอนไดออกไซด์สูงที่เกิดจาก  เศษซากใบไม้กิ่งไม้เน่าเปื่อยและผสมกับโคลนที่ถูกกระแสน้ำพัดพาเข้าไปหรือมูลค้างคาวที่ทับถมกันอยู่ส่งกลิ่นฉุนแต่กลับส่งผลดีต่อถ้ำเนื่องจากมันคือจุดริ่มต้นของห่วงโซ่อาหารภายในถ้ำ  แบคทีเรียเริ่มย่อยสลายและให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา เมื่อมันสะสมตัวมาก ๆ เข้าประกอบกับอากาศภายในถ้ำมีการถ่ายเทและเปลี่ยนแปลงน้อย  ตามปรกติในบรรยากาศปรกติเราจะพบว่าระดับเปอร์เซ็นของคาร์บอนไดออกไซด์มีอยู่ประมาณ 0.003 % แต่เมื่ออยู่ในถ้ำเราจะพบในระดับปรกติและในระดับที่มากกว่าปรกติ เนื่องจากผลผลิตของการย่อยสลายของซากพืชซากสัตว์ และจากกระบวนการตกตะกอนอีกครั้งของแคลเซียมคาร์บอเนต  ระดับอันตรายของคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นอันตรายต่อคนจะอยู่ที่ประมาณ  5.5% อาการหายใจติดขัดสมองจะมึนงงและหมดสติหลังจากนั้นจะเสียชีวิตภายในไม่กี่นาที    การตรวจสอบอากาศที่ปลอดภัยที่สุด  เราจะใช้อุปกรณ์อิเลคทรอนิคสำหรับบอกระดับคาร์บอนไดออกไซด์มันจะส่งเสียงเตือนเมื่อถึงระดับอันตรายแต่อุปกรณ์ชิ้นนี้ราคาแพงมาก การตรวจสอบอีกอย่างก็คือการใช้อาการผิดปรกติของร่างกายเป็นตัววัด แต่คุณจะต้องเคยมีประสบการณ์จึงสามารถบอกได้  บางครั้งการหายใจติดขัดก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากอากาศที่มีคาร์บอนไดออกไซด์สูงอย่างเดียว แต่ยังมาจากออกซิเจนน้อยด้วย
การคาดเดาถ้ำที่มีอันตรายจากอากาศเสียบางครั้งสามารถคาดเดาได้  แต่ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในถ้ำมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจากความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างภายในกับภายนอกถ้ำเมื่อใดที่ถ้ำมีทางเข้าออกทางเดียว อุณหภูมิภายในเย็นกว่าภายนอก  อากาศในถ้ำจะไหลออกมาบริเวณปากถ้ำและจะนำเอาคาร์บอนไดออกไซด์มาด้วย  ในทางกลับกันหากอากาศภายนอกเย็นกว่าอากาศจะไหลย้อนกลับเข้าไปข้างในหอบเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปด้วยจนอยู่ในระดับสมดุลย์  นอกจากนี้มวลโมเลกุลของคาร์บอนไดออกไซด์หนักกว่าออกซิเจน  ดังนั้นภายในถ้ำชั้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะทิ้งตัวด้านล่างของออกซิเจน  ยิ่งลึกเข้าไประดับชั้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ   ในถ้ำใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีการสำรวจมากก่อนหากถ้ำที่ไม่มีการไหลเวียนของอากาศแต่มีชั้นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่บนพื้นถ้ำเราจะพบว่าการเดินเข้าไปจะไม่มีปัญหาเรื่องอากาศ  แต่เมื่อเดินกลับออกมาจะพบปัญหาอากาศไม่พอหายใจ  เนื่องจากการเดินเข้าไปรบกวนสมดุลย์ของชั้นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดการฟุ้งกระจายขึ้นมา
นักสำรวจถ้ำทุกคนจะเรียนรู้ถึงวิธีการสังเกตุการไหลเวียนของอากาศและวิธีการในการตรวจสอบอากาศ  และพร้อมที่จะกลับออกมาเมื่อถึงเกิดปัญหาหรือถึงขีดจำกัดของทีม   ดีนอธิบายเสร็จทุกคนดูนั่งนิ่งได้แต่มองหน้ากันอาการเหมือนช๊อคกับเรื่องที่เพิ่งได้ฟังไป
เหมือนถ้ำที่เราเพิ่งไปสำรวจในวันนี้ไง  แต่พวกเราโชคดีที่ระดับอากาศยังไม่อันตรายเท่าไหร่ ไม่มีปัญหา  แต่ไม่ต้องห่วงหรอก  เพราะเราพบได้ไม่บ่อยนักดีนพูดปลอบใจ
ความเย็นในถ้ำถือว่าเป็นอันตรายรองลงมา ตามปรกติน้ำในถ้ำจะมีความเย็นมากกว่าน้ำที่อยู่ภายนอกถ้ำ  พวกเราเคยเข้าสำรวจถ้ำน้ำที่  อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติลำคลองงู  จังหวัดกาญจนบุรีในช่วงฤดูร้อนช่วงเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดของปี เป็นถ้ำที่มีน้ำตลอดและน้ำไหลแรงมากพวกเราต้องว่ายทวนน้ำเข้าไปในถ้ำ  จุดพักของพวกเราคือการเอามือเกาะผนังถ้ำและลอยคอในน้ำเท่านั้นเราแช่น้ำอยู่ในถ้ำประมาณ  5  ชั่วโมงกว่าจะทำการสำรวจเสร็จสิ้น ช่วงนั้นน้ำในลำห้วยภายในถ้ำมีอุณหภูมิอยู่ประมาณ  16-18  องศาเซลเซียสบางช่วงมีลมแรงมาก  การแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานานทำให้เสี่ยงต่ออาการไฮโปเทอร์เมีย(Hypothermia) หรือ  อาการของคนที่อุณหภูมิในร่างกายต่ำเกินไปคือ  ตัวสั่น  เดินช้า  ปล่อยของหลุดจากมือกล้ามเนื้อไม่ค่อยเคลื่อนไหว  พูดไม่สะดวก มองเห็นไม่ชัดเจน  จิตใจเริ่มไม่อยู่กับร่องกับรอย  ถ้ำอุณหภูมิในร่างกายลดลง 5-6  องศาจะทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้  ดังนั้นการเตรียมชุดเสื้อผ้าและอุปกรณ์จึงมีความจำเป็นต้องเป็นชุดที่สามารถรักษาอุณหภูมิของร่างกายได้ในระดับหนึ่งผมพูดเสริมขึ้นมาบ้าง
          ในการสำรวจครั้งนั้นมีประสบการณ์อย่างหนึ่งที่ลืมไม่ลงจริง ๆ  การเข้าสำรวจถ้ำเสาหินในลำคลองงูเมื่อ  2  ปีที่แล้วหลังจากที่เราว่ายน้ำและเดินเลาะลำห้วยเข้าไปเกือบถึงเสาหินใหญ่ ทันใดนั้นเราก็ได้ยินเสียงแปลก ๆ ดังจากด้านบนสักอึดใจน้ำในลำห้วยแตกกระจาย ละอองน้ำกระเซ็นใส่พวกเราพร้อม ๆ กับเสียงเหมือนหินร่วงกราวใหญ่ ก้อนหินขนาดครึ่งเมตรหล่นจากเพดานถ้ำลงไปในลำห้วยห่างจากพวกเราไปประมาณ 1.5 เมตร  พวกเราได้แต่นิ่งเพราะช็อคกันสถาณะการณ์ในขณะนั้นและหันมามองหน้ากันแต่ก็โชคดีที่คณะสำรวจไม่ได้เป็นอะไรกันมาก
ใช่มันเป็นประสบการณ์ที่ลืมไม่ลงเลยจริง ๆ ใครพบเหตุการณ์นี้นับว่าโชคดีมาก เพราะมันจะเกิดขึ้นไม่บ่อย  อาจเป็นหนึ่งต่อพันหรือหนึ่งต่อหมื่นเลยก็ว่าได้  แต่ขออย่างเดียวอย่าหล่นใส่กลางวงเป็นใช้ได้ดีนเห็นด้วยและพูดอย่างติดตลก
แล้วอันตรายอย่างอื่นล่ะครับมีอีกไหมครับอ๊อดถามอย่างสนใจ
มีสิเดียวผมกับดีนจะค่อย ๆ เล่าให้ฟังพูดจบผมก็หันไปถามดีน
คุณจำตอนที่เราเข้าสำรวจถ้ำที่สระบุรีเมื่อ  9  เดือนที่แล้วได้ไหม  ดีนนึกอยู่สักครู่ก็พูดออกมา
พวกเรารู้จักถ้ำที่มีลำห้วยอยู่ข้างในไหม  ถ้ำหลาย ๆ แห่งในไทยมีลำห้วยอยู่ข้างในและไหลลอดถ้ำบางถ้ำมีน้ำตลอดปีแต่บางถ้ำมีน้ำในฤดูฝนเท่านั้นเราเรียกถ้ำเหล่านี้ว่า  ถ้ำน้ำ(Stream Cave)”  ถ้ำเหล่านี้จะปิดตัวเองโดยอัตโนมัติในฤดูฝน การเข้าไปสำรวจจะต้องสังเกตตามผนังถ้ำว่ามีโคลนหรือเศษไม้อยู่หรือไม่  เหล่านักสำรวจถ้ำจะรู้ดีและหลีกเลี่ยงการสำรวจถ้ำน้ำในฤดูน้ำหลาก  บางถ้ำที่มีขนาดลุ่มน้ำใหญ่เวลาน้ำป่าไหลบ่ามาจะมีพลังมหาศาลสามารถพัดท่อนซุงขนาดใหญ่ให้ไปติดอยู่บนเพดานถ้ำได้เลยทีเดียว  เหมือนถ้ำนกนางแอ่นอุทยานแห่งชาติลำคลองงู ในจังหวัดกาญจนบุรี  พวกเราเคยทำเครื่องหมายเพื่อดูระดับน้ำคร่าว ๆ ที่ท่วมในถ้ำในช่วงปีถัดไปเราพบว่าน้ำในถ้ำมีระดับสูงมาก   พวกเราคิดว่าในคาร์สตวินโดว์ที่  4 (Karst Window) จะต้องกลายเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่โดยทันที
ประสบการณ์ที่พวกเราเคยพบคือการเข้าสำรวจถ้ำลุมพินีสวนหินจังหวัดสระบุรี    ดีนพบความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในลำห้วยภายในถ้ำ  น้ำกลายเป็นสีน้ำตาลเข้มขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับมีเศษกิ่งไม้ไหลมากับน้ำทำให้เราคาดเดาได้ว่าน่าจะมีฝนตกภายนอกถ้ำ  จุดที่พวกเราอยู่ในขณะนั้นเป็นช่องทางที่แคบ ๆ ประมาณเมตรครึ่งและมีความสูงเพียงหนึ่งเมตร  ที่สำคัญที่สุดตามผนังและเพดานถ้ำมีเศษไม้และโคลนติดอยู่  ทำให้พวกเรารู้ดีว่า  ระดับน้ำสูงสุดของจุดนี้คือมิดเพดานถ้ำซึ่งอันตรายมาก  ดีนเตือนพวกเราให้ระวังตัว
จากจุดที่เราอยู่ห่างจากปากถ้ำเกือบ  1  กิโลเมตร  และมีหลายจุดที่ไม่สามารถเดินเท้าได้  จะต้องปีนขึ้นไปตามก้อนหินซึ่งถ้าออกจากถ้ำคงจะไม่ทันแน่นอน  สัญชาตญาณบอกกับเราว่าให้รีบไปจากจุดนี้และจะต้องหาที่สูงที่น้ำจะท่วมไม่ถึงเพื่อหลบภัย
ขณะที่คิดและวิ่งมองหาที่ปลอดภัย  เราได้ยินเสียงคล้ายมีคนมารัวกลองในถ้ำ  มันค่อย ๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น ๆ และคำรามก้องเหมือนฟ้าร้อง
แล้วทุกคนทำอย่างไรครับ  แซกถามขึ้นมาด้วยความสงสัย
  ทุกคนก็ตั้งหน้าตั้งตาวิ่งในทันที น่ะซิ
โดยปรกติผมจะคุยกับดีนด้วยภาษาไทย  เพราะดีนมีภาษาไทยที่แข็งแรงมากแต่ในตอนนั้นดีนส่งภาษาอังกฤษกับผมและเพื่อนอีกคนในทีมโดยไม่ต้องแปลเป็นไทยว่า
“Come  here now” 
เรามองตามขึ้นไปแล้วได้ข้อสรุปเดียวกัน  นั่นคือที่มั่นของทีมในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้
บริเวณนี้เป็นที่กว้างพอควรและมีที่นั่งพักในระดับสูงพอที่ทุกคนจะนั่งได้  พวกเราปีนขึ้นไปและอยู่ที่นั่นไม่ถึง  5  นาทีระดับน้ำสูงขึ้นอย่างทันทีทันใด  ฝนตกที่อาจจะดูไม่รุนแรงนักที่ข้างนอกถ้ำแต่จะส่งผลรุนแรงต่อลำน้ำในถ้ำ  เหมือนการเอาน้ำในถ้วยไปกรอกใส่ในหลอดกาแฟ  ทั้งระดับน้ำและความเร็วของน้ำที่เพิ่มเป็นทวีคุณ  เมื่อลำน้ำถูกบีบเข้าสู่ที่แคบ ๆ
น้ำตกเดิมที่เราเห็นตอนนี้หายไปแล้วกลายเป็นลำน้ำขนาดใหญ่สีน้ำตาลเข้มที่โกรธเกรี้ยวพัดหอบเอาเศษไม้ดินทรายเข้ามา  พวกเราทำได้อย่างเดียวคือ นั่งรอโดยเราต้องปิดไฟทุกดวงเพื่อเก็บพลังงานไว้ใช้ยามจำเป็นและภาวนาให้ฝนที่ตกข้างนอกหยุดตก 
ความมืด  ความชื้น  ความหนาวเย็น  และความหิวมาเยือนพวกเราพร้อม ๆ กัน  ห้าชั่วโมงผ่านไปตั้งแต่  5  โมงเย็นจน  4  ทุ่ม สายน้ำที่บ้าคลั่งค่อย ๆ สงบลงเหลือทิ้งไว้แต่เศษไม้และดินโคลนสีแดงเต็มพื้นและผนังถ้ำ  ผมพยายามเล่าเหตุการณ์ระทึกใจครั้งนั้นให้ทุกคนฟัง
การลื่นล้มบาดเจ็บหรือการเกิดอุบัติเหตุภายในถ้ำเป็นสิ่งที่นักสำรวจถ้ำพยายามหลีกเลี่ยง  คงไม่ใช่สิ่งที่สบายหากต้องนำคนเจ็บที่อยู่ในถ้ำลึกออกมา  ต้องว่ายน้ำ  นำคนเจ็บขึ้นจากเหว  ฯลฯ  แต่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถควบคุมให้เกิดน้อยที่สุดได้  โดยการระมัดระวัง  การใส่อุปกรณ์ป้องกัน  การประเมินความสามารถของตนเองและทีมสำรวจว่าสามารถไปได้มากน้อยขนาดไหนหากทีมไม่พร้อมจะไม่เสี่ยงโดยเด็ดขาด  ทุกคนจะกลับออกมาเตรียมตัว  ฝึกหัด  เตรียมอุปกรณ์และแผนสำหรับการเข้าสำรวจในครั้งต่อไป
แล้วในถ้ำมีสัตว์มีพิษหรือเปล่าครับเจ้าหน้าที่ถามขึ้นบ้าง
ตามปรกติสัตว์มีพิษจะไม่ค่อยพบภายในถ้ำลึก ๆ เพราะสัตว์เหล่านั้นไม่สามารถอยู่ในที่ที่มืดสนิทได้  ไม่มีอาหาร ไม่มีแสงแดด   แต่จะพบงูบางชนิดที่สามารถอยู่ในถ้ำลึก ๆ ได้  เป็นงูที่หากินในถ้ำจริง ๆ   กินค้างคาว  เช่น งูกาบหมากหางนิล(Cave dwelling snake) แต่งูประเภทนี้ไม่สามารถกัดคนได้  ส่วนงูชนิดอื่น ๆ จะอาศัยอยู่ในบริเวณปากถ้ำ  และบริเวณที่พอมีแสงสว่างส่องถึง  สัตว์จำพวกงูมักชอบที่เย็นและอยู่ตามซอกหิน  ดังนั้นก่อนที่จะเดิน  มุด  หรือคลานเข้าถ้ำจะต้องมีการตรวจสอบบริเวณที่จะเข้าไปให้เรียบร้อยก่อนผมอธิบายให้ฟัง
แล้วเรื่องการหลงทางในถ้ำล่ะครับอ๊อดถามขึ้นบ้าง
การหลงทางในถ้ำ  ดูเหมือนจะเป็นอันตรายที่นักสำรวจถ้ำไม่กลัวเท่าใดนัก  สำหรับนักสำรวจถ้ำที่มีประสบการณ์  เขาจะมีความสามารถจากประสบการณ์บางอย่างในการจดจำเส้นทาง  พวกเขาจะแม่นยำมากเรื่องทิศทางผมคิดว่าช่วงที่เขาเข้าไปคงจะจิตนาการเส้นทางที่เดินเป็นแผนที่คร่าว ๆ อยู่ในสมอง  ถ้ายิ่งได้ใช้เทคนิคการทำแผนที่ถ้ำด้วย  เข็มทิศ  เทปวัดระยะ ประกอบกับการสเกตและบันทึกคร่าว ๆ ของเส้นทางภายในถ้ำ  เราจะรู้เส้นทางทั้งหมดของถ้ำในทันที  แต่ก็มีบางครั้งที่เจอเส้นทางที่ยากและถ้ำยาวมาก ๆ ก็ทำเครื่องหมายไว้บนเส้นทาง  สาเหตุหนึ่งที่จะทำให้เกิดการหลงทางในถ้ำได้ก็คือ  อุปกรณ์มีปัญหาแต่เราสามารถควบคุมให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดได้  การเตรียมอุปกรณ์เช่นไฟฉายจะมีสำรองไว้อย่างน้อย  3  ชุด  อุปกรณ์ทุกชิ้นก่อนเข้าสำรวจและหลังจากสำรวจเสร็จแล้ว จะต้องทำการตรวจเช็คสภาพของอุปกรณ์  ทำความสะอาด   และซ่อมบำรุงพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลาผมอธิบายให้ฟัง
ถ้าอย่างนั้นการเที่ยวถ้ำหรือการสำรวจในประเทศไทยในปัจจุบันนี้จะต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษกับการหลงทางภายในถ้ำ  และการเข้าถ้ำทุกครั้งจะต้องมีคนนำทาง  และอุปกรณ์ต้องพร้อมใช่ไหมครับแซกถามพร้อมกับฉีกยิ้มกว้างเหมือนมองเห็นสัจธรรมของชีวิต
ก็คงต้องเป็นอย่างที่คุณเข้าใจนั่นแหละ  แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ถ้าคุณสามารถพัฒนาตัวเองและมีประสบการณ์ที่มากขึ้นพอที่จะออกสำรวจถ้ำเองได้  แต่ตอนนี้คงต้องอาศัยคนที่มีประสบการณ์เป็นคนนำและค่อย ๆ เรียนรู้กันไป  ถ้าทำได้อย่างนี้คุณจะเรียนรู้ได้เร็วขึ้น  ถูกต้องและปลอดภัยกับชีวิตของตนเองผมสรุปให้ฟัง
บางครั้งนักสำรวจถ้ำนำเอาการสำรวจถ้ำมาผนวกเข้ากับกีฬาดำน้ำ ทำให้สามารถท่องเข้าไปยังอาณาจักรที่ลึกเข้าไปนั่นคือการสำรวจถ้ำใต้น้ำ ถือว่าเป็นศาสตร์ที่อันตรายที่สุด  หลาย ๆ ถ้ำที่เราสำรวจจะไปสุดที่แอ่งน้ำ ( Sump )  น้ำทั้งหมดจะมุดหายลงไปในอุโมงค์ที่มีน้ำเต็ม  หรือถ้ำที่อยู่ตามเกาะในทะเล  ดังนั้นการจะเข้าไปสำรวจจะต้องมีการใช้อุปกรณ์พิเศษช่วย  ผู้ที่เป็นนักสำรวจถ้ำใต้น้ำที่เก่งต้องมีประสบการณ์การสำรวจถ้ำมากประกอบกับมีทักษะการดำน้ำที่เชี่ยวชาญจึงสามารถท่องไปในโลกใต้ดินและใต้น้ำได้ดี  การสำรวจถ้ำใต้น้ำเป็นการสำรวจที่ยากเพราะต้องพบกับตะกอนโคลนที่อยู่ตามพื้นถ้ำที่พร้อมจะฟุ้งกระจายได้ตลอดเวลา  ช่องทางที่แคบและกระแสน้ำที่รุนแรงที่อัดผ่านช่องเล็ก ๆ   เวลาในการสำรวจจะถูกจำกัดโดยออกซิเจนในถัง  หินตามผนัง เพดานถ้ำสามารถทำให้เกิดความเสียหายกับอุปกรณ์ได้ตลอดเวลา  ดีนอธิบายเพิ่มเติมให้กับทุก ๆ ฟัง
การสำรวจถ้ำทุกครั้งของนักสำรวจถ้ำทั่วทุกมุมโลกจะยึดถือในกฏเกณฑ์การสำรวจเดียวกันเพื่อป้องกันอันตรายจากการท่องเที่ยวหรือการสำรวจถ้ำไม่ว่าจะเป็นนักสำรวจถ้ำมืออาชีพ  มือสมัครเล่น  หรือนักท่องเที่ยว
1.   การสำรวจถ้ำทุกครั้งจะต้องสวมหมวกนิรภัยตลอดเวลา
2.   อุปกรณ์ให้แสงสว่างจะต้องมีอย่างน้อย  3  ชุด  ได้แก่  ไฟหลัก  ไฟสำรองและไฟฉุกเฉิน  ต้องเตรียมแบตเตอรี่  หลอดไฟสำรองให้เพียงพอและเผื่อ อย่างน้อย  1  เท่าเสมอ
3.   การสำรวจถ้ำจะต้องเข้าสำรวจอย่างน้อย  4  คน  ถ้าคนใดคนหนึ่งไม่พร้อมจะต้องกลับออกมาทั้งหมด  มิฉะนั้นจะเป็นภาระกับเพื่อนร่วมทีมทันที
4.   การเข้าถ้ำทุกครั้งจะต้องบอกกับเพื่อนหรือคนรู้จักที่แน่ใจว่าเมื่อคณะสำรวจยังไม่กลับมาตามกำหนด  เขาจะต้องหาคนตามไปช่วยเหลือได้  ต้องแจ้งถึงถ้ำที่เข้าสำรวจ  ใช้เวลาสำรวจนานเท่าใด  ที่สำคัญที่สุดกลับออกมาเมื่อใด
5.   นักสำรวจต้องเรียนรู้ประสิทธิภาพ  ข้อจำกัดของการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือที่ทำงานทั้งหมด  สามารถซ่อมแซมและดัดแปลงเมื่อเกิดปัญหา  สามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือในกรณีที่จำเป็นได้  และต้องดูแลรักษาให้อุปกรณ์เครื่องมือพร้อมใช้งานตลอดเวลา
6.   ก่อนใช้งานอุปกรณ์พิเศษเช่น  อุปกรณ์ขึ้นลงทางดิ่ง  อุปกรณ์ดำน้ำ  จะต้องมีการฝึกหัดและฝึกฝนถึงขั้นตอนการทำงานให้ขึ้นใจก่อนเข้าสำรวจจริงทุกครั้ง  เพราะเมื่อเกิดปัญหาจะไม่มีใครสามารถช่วยได้นอกจากตัวเองเท่านั้น
7.   นักสำรวจจะต้องรู้จัดและฝึกฝนการปฐมพยาบาลเบื้องต้น  สามารถช่วยเหลือเพื่อนร่วมทีมได้เมื่อเกิดการบาดเจ็บ เพราะกว่าชุดกู้ภัยจะมาช่วยเหลือได้ต้องใช้เวลานาน  ในกรณีจำเป็นต้องสามารถช่วยให้ผู้บาดเจ็บรอดชีวิตจนกว่าหน่วยกู้ภัยจะมาถึง
8.   การเข้าถ้ำทุกครั้งจะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อถ้ำ  พึงตระหนักไว้ว่าถ้ำทุกที่เป็นถ้ำที่มีระบบนิเวศเฉพาะและเปราะบาง  สิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปย่อมเกิดผลกระทบที่ยาวนาน  เช่น  ขยะ  ถ่านไฟฉายที่หมดแล้วมีมลพิษจากโลหะหนัก  เศษอาหารทำให้เชื้อราและแบคทีเรียบางชนิดสามารถเจริญเติบโตได้ดีหรือแม้กระทั่งเชื้อราและแบคทีเรียที่ติดเสื้อผ้าของผู้สำรวจเอง  ทุกสิ่งที่นำเข้าไปจะกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับถ้ำเสมอต้องนำกลับออกมาด้วยเท่าที่จะเป็นไปได้และจงรบกวนสิ่งมีชีวิตในถ้ำให้น้อยที่สุด
สำหรับผู้ที่ต้องการเป็นนักสำรวจถ้ำจะต้องตระหนักไว้เสมอและถามตัวเองก่อนเข้าสำรวจถ้ำทุกครั้งว่า  คุณรู้จักถ้ำดีเพียงใด  การสำรวจถ้ำธรรมชาติที่ยังไม่เคยมีผู้ใดย่างกรายเข้าไปก่อน  ผู้สำรวจจะต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับถ้ำ  เช่น  ธรณีวิทยา  อุทกวิทยา  ตะกอนภายในถ้ำ  กลไกลของอากาศภายในถ้ำ  นิเวศวิทยาภายในถ้ำ  โบราณคดี  ฯลฯ  สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้สามารถลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับถ้ำ  ความปลอดภัยในชีวิตของตนเอง  ค่อย ๆ เรียนรู้และสะสมประสบการณ์  ควรศึกษาจากการติดตามผู้ที่มีประสบการณ์เท่านั้น  ตระหนักไว้เสมอว่า  นักสำรวจถ้ำมืออาชีพที่มีประสบการณ์เป็นสิบ ๆ ปีได้เสียชีวิตไปหลายคนจากอุบัติเหตุในการสำรวจ  ความไม่พร้อมและความประมาท

ก้าวย่างเพื่อหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลง

ทุกวันนี้ไม่เพียงแต่ถ้ำเท่านั้นที่รอการค้นพบ  สำรวจ  ศึกษา  และอนุรักษ์จากนักสำรวจ  นักวิชาการในแขนงต่าง ๆ  ทั้งนี้ยังรวมไปถึงพื้นที่คารส์ตทั้งหมดในประเทศไทยที่ต่างก็มีความสัมพันธ์ต่อการคงอยู่ของถ้ำที่มีคุณค่าในประเทศไทย
การสำรวจถ้ำในประเทศไทยยังถือว่าอยู่ในช่วงของการเริ่มต้น  โดยเริ่มจากกรมป่าไม้ในช่วงเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา  เพื่อสำรวจถ้ำต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบแต่ก็เป็นการสำรวจเบื้องต้นและเป็นการวางรากฐานของการจัดการถ้ำในอนาตคเท่านั้น  หลังจากนั้นเกือบ 2 ปีงานการสำรวจวิจัยเเต็มรูปแบบกี่ยวกับถ้ำในประเทศไทยได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี  2540  เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และสร้างบุคคลากรที่สามารถทำงานด้านการสำรวจถ้ำในระดับของมืออาชีพ  ภายใต้การสนับสนุนด้านเงินทุนจาก  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  ในการศึกษา  2  พื้นที่โครงการคือ  โครงการสำรวจถ้ำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร  และโครงการสำรวจถ้ำในอำเภอปางมะผ้า  . แม่ฮ่องสอน  เราคาดว่าหลังจากเสร็จสิ้นโครงการทั้งสองนี้แล้ว เราจะมีบุคคลากรไทยที่สามารถดำเนินการในการสำรวจวิจัยถ้ำในระดับของมืออาชีพ  สามารถทำความเข้าใจกับปริศนาของโครงข่ายใต้ดินอันซับซ้อน  รู้ถึงคุณค่าความสำคัญทางด้านต่าง ๆ ของถ้ำอย่างถูกต้อง  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นฐานข้อมูลในการจัดการใช้ประโยชน์ถ้ำอย่างยั่งยืนในอนาคต
การทำการศึกษาและสำรวจคุณลักษณะ  ระบบนิเวศของถ้ำในสภาพธรรมชาติที่ยังไม่เคยมีมนุษย์คนใดเหยียบย่ำเข้าไปก่อน  การวิจัยที่ต้องแข่งขันกับปริมาณความต้องการใช้ถ้ำเพื่อสนองตอบกระแสการท่องเที่ยวที่ต้องการใช้ประโยชน์ถ้ำที่มีคุณค่าในพื้นที่อื่นๆ  
          ความเสื่อมโทรมของถ้ำจากปัญหาขยะจากนักท่องเที่ยว  เช่น  ถ้ำเชียงดาว  การขีดเชียนตามผนังถ้ำ  การติดตั้งไฟและอุปกรณ์ส่องสว่างถาวร  โดยไม่ได้พิจารณาสภาพสมดุลย์ของอุณหภูมิ ความชื้นและการหมุนเวียนของอากาศภายในถ้ำ  การจับต้องหินงอกหินย้อย  การเดินบนพื้นถ้ำโดยไม่มีการกำหนดเส้นทางที่แน่นอน  และการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกถาวรภายในถ้ำ    ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อความสมดุลย์ของถ้ำ  และทำให้ถ้ำเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว  ถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ถ้ำจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร  สมดุลย์ของระบบนิเวศห่วงโซ่อาหารภายในถ้ำจะเกิดอะไรขึ้น  สัตว์ถ้ำชนิดพิเศษเหล่านี้จะสูญพันธุ์ไปหรือไม่จากการรุกรานของกิจกรรมท่องเที่ยว  ถ้ำที่เสื่อมโทรมไปแล้วไม่มีคนสนใจเข้าชมแล้วจะทำอย่างไรต่อไป  การฟื้นสภาพของถ้ำจะใช้เวลานานเท่าใด  หากถ้ำที่เปิดใช้ไปแล้วเสื่อมโทรมจนไม่มีนักท่องเที่ยวสนใจเข้าชม  ทางออกก็คือการบุกเบิกเปิดถ้ำใหม่เพื่อดึงดูดให้กิจกรรมการท่องเที่ยวเข้ามาพร้อมกับรายได้ครั้งใหม่กระนั้นหรือ
ตราบใดที่ยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องถึงคุณค่าและความเปราะบางของถ้ำ  ขาดการควบคุมการเปิดใช้ถ้ำ  ขาดการวางแผนการใช้ประโยชน์อย่างรอบด้าน  อนาคตของทรัพยากรถ้ำในประเทศไทย  คงเหลือเพียงแค่รายงานการสำรวจว่ามีการค้นพบปลาชนิดใหม่ของโลกแต่ได้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยในเวลาอันรวดเร็วหลังจากการเปิดถ้ำเพื่อใช้ประโยชน์ไม่กี่ปี 
ภาพถ่ายที่สวยงามของถ้ำต่างๆ  อาจเป็นเพียงแค่บทบันทึกของอดีตที่แสนหวานเพราะความสวยงามของถ้ำเหล่านั้นกำลังจะถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วด้วยความคึกคะนองของนักท่องเที่ยวและการปล่อยปละละเลยขององค์กรที่เกี่ยวข้อง
ธรรมชาติได้ก่อกำเนิดสายพันธุ์ของสิ่งมีชิวิตใหม่ ๆ รวมไปถึงประติมากรรมธรรมชาติซึ่งเป็นสิ่งอัศจรรย์ใช้ระยะเวลาเป็นหมื่น ๆ  เป็นล้าน ๆ ปี  และประติมากรรมเหล่านี้มีความเปราะบางมากเมื่อถูกทำลายลงจากน้ำมือของมนุษย์  แล้วก็จะเป็นการสูญเสียตลอดกาลเพราะระบบนิเวศในถ้ำเกือบจะเป็นระบบปิด  ซึ่งไม่ฟื้นตัวเร็วเหมือนกับระบบนิเวศของป่า  ซึ่งมีความหลากหลายและมีการทดแทนและคืนสู่สภาวะสมดุลย์  ได้รวดเร็วกว่าหลายร้อย  หลายพันเท่า
และวันนี้นักสำรวจถ้ำกำลังทำการสำรวจและศึกษา  เพื่อให้คนรุ่นต่อไปได้พบเห็นและมีโอกาสรู้จักกับธรรมชาติในโลกที่ไม่ต้องการแสงสว่าง  แม้การสำรวจจะเต็มไปด้วยความเสี่ยงและอันตรายที่รออยู่ข้างหน้า  แต่นักสำรวจถ้ำก็ยังคงเดินหน้าต่อไปเพื่อให้การสำรวจนำไปสู่การวางแผนในการรักษาถ้ำให้รอดพ้นจากความเปลี่ยนแปลงอันเกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ทุกความคิดเห็นของท่านจะถูกนำไปใช้ในการปรับปรุง web ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น